ความพอเพียง คืออิสรภาพ

เราจำเป็นต้องเสาะหาอิสรภาพทางการเงินไหม?
ถ้าการเมืองดี เรายังต้องการ อิสรภาพทางการเงิน อยู่หรือเปล่า?
ถ้ามีสวัสดิการสังคมที่ดี มีระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้งานสะดวก เรายังต้องการอิสรภาพทางการเงิน เพื่อหาซื้อสินค้าบริการ เป็นเจ้าของรถยนต์/มอเตอร์ไซค์ กันมากน้อยแค่ไหน?

ถ้ามีอิสรภาพทางการเงิน ก็ใช่ว่าจะมีสิทธิและเสรีภาพในสังคมที่ปิดกั้น
อิสรภาพทางการเงิน เกี่ยวพันกับอิสรภาพในมิติอื่นๆ แค่ไหน? การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการทำให้ผู้ซื้อสัมผัสถึงอิสรภาพในมิติอื่นๆ เช่น อิสรภาพทางจิตวิญญาณ หรือเป็นอิสระจากพันธนาการของสังคม ได้เพียงใด?

ทั้งการมีสังคมที่ดี เป็นธรรม และส่งเสริมให้ประชาชนของตนได้ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างสุดความสามารถ กับ การมีอิสรภาพทางการเงิน น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
แต่ถ้าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเลือกว่าต้องการอะไรก่อน คงไม่ใช่เรื่องง่าย
เราอาจจะทำไปพร้อมๆ กันก็ได้ แต่หนทางคงยาวไกล ในชีวิตที่แสนสั้น
หรือต่อให้ตัดสินใจได้ ก็ใช่ว่าเราจะได้ในสิ่งที่เลือก และเป็นไปได้ว่าเราจะไม่ได้ทั้งสองสิ่งเลยในช่วงชีวิตนี้

ชนชั้นกลางคงเลือกอิสรภาพทางการเงินก่อน ส่วนคนรากหญ้าคงไม่คิดฝันว่าจะมีอิสรภาพทางการเงินได้ในสังคมที่ปิดกั้นเสรีภาพแบบนี้
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของประเทศผ่านการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดทางท้ายๆ ที่เหลืออยู่ของพวกเขา
และแทบทุกครั้งก็จะมีคนมาเด็ดโอกาสนี้ไป

ชนชั้นกลางที่ยกระดับฐานะของตัวเองได้ใน 1 Generation อาจหลอมรวมเป็นคนกลุ่มเดียวกับชนชั้นนำ (ที่น่าจะมีอิสรภาพทางการเงินมาตั้งแต่เกิด ส่วนอิสรภาพทางความคิดและตรรกะที่มีเหตุผลเป็นอีกเรื่อง)
ชนชั้นกลางที่ไม่ประสบความสำเร็จใน 1 Generation คงย่ำอยู่กับที่ หรือถูกผลักให้ตกลงไปเป็นคนรากหญ้าในสังคมที่ไม่มีสวัสดิการ
เขาอาจถูกปฏิเสธจากสังคมที่ไม่เป็นธรรม/ระบบอุปถัมภ์ที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้เมื่อเวลาของตัวเองมาถึง
“แก่ก่อนรวย” หรือ “แก่ จน เจ็บ” ทั้งๆ ที่เป็นคนดี ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เลือกพรรคคนดี และเชิดชูสถาบันฯ มาตลอด สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นเรื่องที่แพร่หลายมากขึ้นในสังคมผู้สูงอายุที่เข้มข้นขึ้นทุกวินาที

การจะย้ายประเทศ ถ้าไม่มีอิสรภาพทางการเงินระดับหนึ่ง ก็ต้องมีความกล้า พร้อมผจญภัย พร้อมดิ้นรนในสังคมใหม่ไม่น้อย
หรือการจะอยู่ในสังคมที่ปิดกั้น ถ้าไม่มีอิสรภาพทางการเงินก็ยิ่งแล้วใหญ่ ถูกสูบเลือดสูบเนื้อ ใช้งานทั้งทางกายและจิตใจ สูบเงินที่เหลืออยู่น้อยนิดจากธุรกิจกึ่งผูกขาดที่ตั้งอยู่รายรอบในชีวิตประจำวัน

ในทางกลับกัน อิสรภาพทางการเงิน มีจริงหรือเปล่า หรือจริงๆ มันคือคำสาป ที่ทำให้เราต้องมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่ออิสรภาพที่คิดว่าจะมีมากขึ้นตามไปเรื่อยๆ จนเราคิดไม่เป็น จนสูญเสียสิทธิและเสรีภาพในด้านอื่นๆ ไปจนหมด

แล้วทางออกยังมีอยู่ไหม?
เศรษฐกิจพอเพียง ควรถูกจัดวางไว้อย่างไรในเรื่องราวเหล่านี้
การยก “ความสุข” ขึ้นมาอธิบายโดยไม่ต้องสน (หรือไม่มี) อิสรภาพในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอิสรภาพทางการเงิน คือการหลอกตัวเองหรือไม่?

โดยส่วนตัว เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวาทกรรมที่ปิดกั้นคนจากการเข้าถึงความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) พอสมควร เป็นแนวคิดที่หลงยุค ไม่เข้าบริบทกับโลกสมัยใหม่
ยิ่งนำเรื่อง QE การพิมพ์เงินของธนาคารกลางทั่วโลก การเปลี่ยนมาตรฐานทองคำเป็น Bretton Woods และ Fiat Standard มาจับ ภาพจำทางการเงินแบบไทยๆ ทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สลาก วงแชร์ ฯลฯ ยิ่งล้าหลัง
ถ้าจะปรับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้ละมุนขึ้นคงเป็น “การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk/ Portfolio Management)” ที่รู้ว่าเป้าหมายในการลงทุนของตัวเองคืออะไร จุดไหนเรียกว่าพอ จุดไหนเรียกว่ายอมตัดใจ
ในขณะที่เชิดชูการเกษตร ข้าวปลาไม่ใช่ของมายา และการทำนาเป็นส่วนๆ ฝั่ง CPB (Crown Property Bureau) ก็เป็นนายทุนกลุ่มแรกๆ ที่คว้าโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยทั้งภาคการเงิน อุตสาหกรรม และบริการมาโดยตลอด
เป็นการลงทุนในนามของคนดีและความรักชาติ

ส่วนความสุขคงไม่ใช่ End game ของทุกเรื่อง
อาจจะจริงที่เวลามีความสุขย่อมไม่จำเป็นต้องคิดอะไรอีก แต่โมงยามของความสุขก็ผ่านไปไวเมื่อ Endorphin หรือ Dopamine หมดลง และต้องเผชิญกับโลกความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชิดชูความสุขมากเกินไปจนปิดกั้นและเพิกเฉย (Ignore) ความจริงในมิติต่างๆ อีกมากของชีวิต โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรมในสังคม
ความสุข ความดี หรือ คนดี จึงเป็นค่านิยม หรือการให้คุณค่าต่อโลกที่อ่อนต่อโลก (Naive) และ simplified เกินไป หรือพวกเค้าตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น
ว่าก็ว่าล่ะ ในทางปรัชญา การถกเถียงของระหว่างพวก Stoic, Cynic และ Epicurean ตั้งแต่หลายพันปีก่อน ก็ยังคงดำเนินยืดเยื้อมาจนถึงตอนนี้

ทั้งหมดคือการล้อเล่นของวาทกรรม ทั้ง “อิสรภาพทางการเงิน” “สิทธิเสรีภาพในสังคม” “เศรษฐกิจพอเพียง” “ความสุข” ที่คงวนเวียน กลับไปกลับมา กันทั้งชีวิต ในสังคมที่ปิดกั้น

เขียนโดย SOAS alumni

อิสรภาพทางการเงิน #สิทธิเสรีภาพในสังคม #เศรษฐกิจพอเพียง #ถ้าการเมืองดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *