จดหมายถึงพ่อ ฉบับที่4

📍📨จดหมายฉบับที่4 จากกิจกรรม #จดหมายถึงพ่อ

สถาบันกษัตริย์: รุ่นเก่า vs เจนใหม่

“ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉย ๆ เขาก็รัก” เป็นวลีที่ช่วงนี้หลาย ๆ คนคงจะได้ยินอยู่บ่อย ๆ ทั้งจากเพจคำคม ความรัก ไปจนถึงเพจการเมือง หรือแม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ใน social media และตามท้องถนน ฟังเผิน ๆ ประโยคนี้ดูเหมือนจะใช้อธิบายได้ดีในสถานการณ์ความรัก หรือในสถานการณ์ที่บางสิ่งบางอย่างไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ แต่มันสามารถใช้กับสถานการณ์ทางการเมืองได้จริงหรือ ?

ย้อนไปตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากสถาบันกษัตริย์อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน รูปแบบการปกครองของสมัยสุโขทัยนั้นจึงเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นการปกครองในลักษณะ “พ่อปกครองลูก” หากแต่ถัดมาในสมัยอยุธยาด้วยอิทธิพลจากขอม สถาบันกษัตริย์จึงเป็นที่รู้จักนับถือกันในฐานะของ “สมมติเทพ” หรือ “เทวราชา” เป็นการปกครองที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน โดยมีความเชื่อว่าได้รับบัญชาสวรรค์หรือเป็นตัวแทนสวรรค์ลงมาปกครองมวลมนุษย์ คติความเชื่อนี้นอกจากส่งผลให้เกิดความเคารพศรัทธาในสถาบันอย่างสูงสุดแล้ว ยังก่อให้เกิดการบูชาตัวบุคคลเพราะเชื่อว่าพระมหากษัตริย์นั้นเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงสุดในแผ่นดินและจะถูกผู้ใดล่วงเกินมิได้ กล่าวคือไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะเป็นอย่างไร หน้าที่ของประชาชนก็คือการเคารพรักในสถาบันกษัตริย์ ความเชื่อนี้ส่งผลให้เกิดการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสืบต่อเรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์

การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้ได้ถูกปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในปี พ.ศ. 2475 เมื่อบวกลบดูกับปี พ.ศ. ปัจจุบันแล้ว ก็เป็นระยะเวลาเพียง 88 ปี หลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของสถาบันกษัตริย์

ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าสถาบันกษัตริย์จะยังคงมีบทบาทต่อสังคมอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าความเชื่อที่สืบต่อมาแต่โบราณนี้ กำลังถูกสั่นคลอน สถาบันกษัตริย์ที่เคยถูกเคารพในฐานะสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดและสมมติเทพในวันวานกลับดูจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไหร่ในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมรูปแบบใหม่ที่ผู้คนเลือกที่จะเคารพกันที่การกระทำและความเท่าเทียมมากกว่าความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อ

หนึ่งในข้อถกเถียงที่หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินบ่อยที่สุดข้อหนึ่งคงหนีไม่พ้น “เพราะคนรุ่นใหม่เกิดไม่ทันในยุคสมัยที่สถาบันรุ่งเรืองและทรงงานหนัก จึงไม่ทันเห็นและทำให้ไม่เกิดความรักในสถาบันพระมหากษัตริย์” อันที่จริงแล้วการนำระยะเวลาการมีอยู่ของชีวิตในช่วงเวลาที่ต่างกันมาเป็นตัวตัดสินคงไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นัก รวมไปถึงปัจจัยที่ว่าคนรุ่นใหม่นั้นล้วนเติบโตมาโดยการเลี้ยงดูของคนรุ่นเก่าที่ยังคงรัก เคารพและเทิดทูนในสถาบันนั่นแหละ แล้วเพราะเหตุใดกัน ทัศนคติต่อสถาบันจึงได้เปลี่ยนไปมากมายในเวลาอันแสนสั้น

ในขณะที่คนรุ่นเก่าเติบโตมากับการได้เห็นพระราชาทรงงานหนัก มีส่วนร่วมมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาประเทศมากมาย จึงเกิดเป็นความรักและซาบซึ้งในความทุ่มเท กอปรกับอิทธิพลความเชื่อแต่โบราณ สำหรับคนรุ่นเก่า ๆ แล้วนั้นพระราชาจึงไม่ต่างกับ “เทวดาเดินดิน” มากนัก ในขณะเดียวกันสิ่งที่คนรุ่นใหม่มองเห็น คือ พระราชาที่ทำหน้าที่ที่รัฐบาลควรเป็นคนทำ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงนำไปสู่การตั้งคำถามของบทบาทหน้าที่ รวมไปถึงสาเหตุของ “การทรงงานหนัก” ดังนั้นการพูดว่าคนรุ่นใหม่ต้องการล้มล้างสถาบันนั้นจึงดูเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงและเกินกว่าเหตุไปมาก

สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการจากสถาบันนั้นไม่ใช่การทรงงานหนัก

คนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการเทวดาเดินดินที่มาแก้ปัญหาให้ประเทศเพราะนั่นคือหน้าที่ของรัฐบาล

คนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการสิ่งของพระราชทานหรือพระราชาที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่ต้องการพระราชาที่ประชาชนสามารถตรวจสอบค่าใช้จ่ายในส่วนที่มาจากภาษีของประชาชนได้

คนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการพระเมตตาหรือพระมหากรุณาธิคุณ แต่ต้องการให้สถาบันดำรงอยู่ในทางที่ถูกที่ควรใต้รัฐธรรมนูญ

คนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการพระราชาที่เป็นสมมติเทพที่ไม่ว่าใครก็ก้าวล่วงมิได้ แต่คนรุ่นใหม่ต้องการความปลอดภัยในชีวิตเมื่อวิพากย์วิจารณ์สถาบัน

อันที่จริงการที่จะบอกว่าความขัดแย้งของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นเพราะสถาบันกษัตริย์นั้นคงจะเกินไปเสียด้วยซ้ำ เมื่อในความเป็นจริงความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นจาก “ความเข้าใจผิด” และ “การไม่เปิดใจรับฟัง” สิ่งที่คนหนุ่มสาวเจนใหม่กำลังเรียกร้องอยู่ต่างหาก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *