คำพิพากษา ข้อพิพาท กรณีคู่รักเพศเดียวกัน ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้เพราะขัดกับความเชื่อของนายกเทศมนตรี

“สมรสเท่าเทียม” : คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทย vs ประเทศฝรั่งเศส
ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญไทย (ประเทศที่ถูกห้ามไม่ให้พัฒนา) บอกว่า “ธรรมชาติ” กำหนดให้มนุษย์มีแค่ 2 เพศ คือ เพศชายและเพศหญิง ที่เหลือเป็น “ความผิดปกติ” เป็น “ข้อยกเว้น” ที่แต่ละประเทศจะต้องหาวิธีการ “รักษา” เป็นกฎหมายเฉพาะ ๆ ไป ลองมาฟังคำพิพากษาของประเทศฝรั่งเศส (ประเทศที่พัฒนาแล้ว)
.
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลเพศใดก็ตามสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ตามกฎหมายตามกฎหมายลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2013 (la loi du 17 mai 2013) กฎหมายนี้มีชื่อเล่นว่า Le mariage pour tous หรือแปลเป็นภาษาไทยก็คงประมาณว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียม
.
หลังจากนั้นก็มีคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนี้เรื่อย ๆ แต่เรื่องไม่จบง่าย ๆ เพราะยังมีข้าราชการที่มีอำนาจตามกฎหมายในการรับจดทะเบียนสมรส ซึ่งก็คือ นายกเทศมนตรีหลาย ๆ คน ปฏิเสธ ไม่ยอมรับการจดทะเบียนสมรสดังกล่าว เพราะอ้างว่าการยินยอมให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสขัดกับความเชื่อของตน (ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าสร้างอดัมกับอีฟ ไม่ใช่อดัมกับอดัม)
.
ผลของการปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสของนายกเทศมนตรี ทำให้มีคดีฟ้องร้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการกระทำดังกล่าว มีการสู้คดีกันในศาลและสุดท้ายมีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2013 นี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ? เพราะรัฐธรรมนูญได้รับรองหลักเสรีภาพในทางความเชื่อเอาไว้ กฎหมายที่ไปบังคับให้นายกเทศมนตรีต้องรับจดทะเบียนจึงขัดกับเสรีภาพทางความเชื่อที่รัฐธรรมนูญรับรอง ?
.
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (ศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส) ได้มีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าว ปรากฏในคำวินิจฉัยลำดับที่ 2013-353 QPC ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2013 เรื่อง ขอให้วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่ง และประมวลกฎหมายว่าด้วยอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (CGCTs) ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?
.
ศาลพิจารณาว่าข้อพิพาทนี้เกิดจากการที่นายกเทศมนตรี (ผู้ฟ้อง) ขอให้วินิจฉัยว่านายกเทศมนตรีที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจทางทะเบียนในท้องถิ่นสามารถปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนสมรสของบุคคลผู้มีเพศกำเนิดเดียวกันได้หรือไม่โดยอ้างเหตุผลในเรื่องของเสรีภาพในความเชื่อ (Liberté de conscience) ?
.
ในข้อพิพาทนี้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า
.
“ลำพังแต่ความเชื่อส่วนตัวอันปราศจากเหตุผลพิเศษนอกจากความเชื่อทางศาสนานั้นไม่อาจเป็นเหตุให้นายกเทศมนตรีปฏิเสธการรับจดทะเบียนสมรสของบุคคลผู้มีเพศกำเนิดเดียวกันได้” [ สรุป คือ เจ้าหน้าที่จะอ้าง “ความเชื่อทางศาสนา” ของตัวเอง มาปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ถ้าจะไม่รับจดทะเบียน จะต้องไปใช้เหตุผลอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนด เช่น จดทะเบียนสมรสซ้อน หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกบังคับข่มขืนใจให้มาจดทะเบียนฯ ฯลฯ เป็นต้น. ]
.
ศาลจึงมีคำพิพากษาว่ากฎหมายเรื่องสมรสเท่าเทียมจึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ! นายกเทศมนตรีจึงไม่สามารถอ้างความเชื่อส่วนบุคคลของตนเองมาปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกันได้ ! ศาลยังพิพากษาต่อไปอีกว่า เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเป็นกลาง (la neutralité du service public) [ กล่าวคือ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เอาความเชื่อส่วนบุคคลมาเป็นอคติปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ]
.
ข้อเท็จจริงดังกล่าวน่าสนใจว่า ในภายภาคหน้าหากมีการผลักดันในรัฐสภาไทยจนกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว จะมีการปฏิเสธไม่บังคับใช้กฎหมายนี้ หรือมีการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญไทยพิจารณาว่ากฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?
.
การต่อสู้เรื่องสมรสเท่าเทียมไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยง่าย แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังต้องต่อสู้กันหลายยกจนกว่าจะได้มา ชัยชนะของชาวฝรั่งเศสจึงไม่ได้โรยด้วยน้ำหอมและกลีบกุหลาบ แต่ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและคราบน้ำตา
.
บทเรียนนี้สะท้อนให้เห็นว่า หาก “มนุษย์” ยืนยันดันเพดานต่อสู้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใด แม้แต่ “พระเจ้า” ก็เข้ามาขัดขวางเราไม่ได้ !
.
อ้างอิง
https://www.gouvernement.fr/action/le-mariage-pour-tous
https://www.conseil-constitutionnel.fr/decision/2013/2013353QPC.htm

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *