ทำไมถึงเริ่มต้นปีงบประมาณ วันที่ 1 ตุลาคม กับ คำอธิบายของปรีดี พนมยงค์

ผ่านไปแล้ว ๑ วันทำงาน ของปีงบประมาณใหม่ แต่ระบบราชการก็ยังเหมือน ๆ เดิม (เพิ่มเติม คือ หนี้สิน) หลาย ๆ คนคงจะเหน็ดเหนื่อยกับช่วงปลายปีงบประมาณที่ผ่านมาเพราะต้องเร่งปิดรอบ จัดการบัญชี ส่งผลงาน ฯลฯ และแน่นอน ถ้าคุณไม่ได้ยื่นใบลาไว้ล่วงหน้า วันนี้คุณก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป (แอดมินก็เช่นกัน)
.
ว่าแต่ เคยสงสัยกันไหมว่า ทำถึงกำหนดให้สิ้นสุดปีงบประมาณในวันที่ ๓๐ กันยายน และกำหนดให้วันที่ ๑ ตุลาคม เป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ ? เป็นเพราะทางราชการไม่อย่างให้พวกเราตั้งรีบปั่นงานช่วงคริสมาสต์ ปลายปีจะได้มีเวลาพักผ่อนกับครอบครัว รึเปล่า ???
.
พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้… “ปีงบประมาณ” หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคมของปีหนึ่ง ถึงวันที่ ๓๐ กันยายนของปีถัดไป และให้ใช้ปี พ.ศ. ที่ถัดไปนั้นเป็นชื่อสําหรับปีงบประมาณนั้น
.
เดิม ปีงบประมาณไทย เริ่มต้นวันที่ ๑ เมษายน ซึ่งตรงกับวันปีใหม่เดิมของไทย (ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เปลี่ยนมาใช้วันที่ ๑ มกราคม จนถึงปัจจุบัน)
.
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๑ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “งบประมาณรายรับรายจ่ายประจำปีนั้น ให้เริ่มต้นวันที่ ๑ ตุลาคม และหมดเขตวันที่ ๓๐ กันยายน ของอีกปีหนึ่งตามประติทินหลวง กำหนดเวลาดังกล่าวแล้วนั้นให้เรียกว่าปีงบประมาณและให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป”
.
นับจากวันนั้น ประเทศไทยก็ได้เปลี่ยนมาใช้วันที่ ๑ ตุลาคม เป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ
.
เหตุผลในการเปลี่ยนมาใช้วันที่ ๑ ตุลาคม ปรากฏในคำแถลงของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการปรับปรุงภาษีอากรเพื่อความเป็นธรรมแก่สังคมและเหตุผลในการเปลี่ยนปีงบประมาณ…
.
เหตุผลในการเปลี่ยนปีงบประมาณ เป็นเหตุผลในเรื่องฤดูกาล สภาพดินฟ้าอากาศของประเทศสยาม กล่าวโดยสรุป คือ
.
๑) การทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำการนอกสถานที่ เช่น งานโยธาสาธารณะ มักจะทำได้ในฤดูแล้ง คือ ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมิถุนายน การที่กำหนดให้ปีงบประมาณเริ่มวันที่ ๑ เมษายน จะทำให้ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมหน่วยงานมัวพะวงกับการจัดทำงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถทำงานโยธาสาธารณะได้อย่างเต็มที่
.
๒) การที่ปีงบประมาณเริ่มเมื่อวันที่ ๑ เมษายน การจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงการคลัง (ในเวลานั้นสำนักงบประมาณไม่ได้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี) กว่างบประมาณจะลงไปถึงหน่วยงาน ก็เข้าช่วงฤดูฝน ทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
๓) การจัดทำงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณรายได้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือภายหลังจากเก็บเกี่ยว คือ ช่วงเดือนสิงหาคม เกษตกรจะมีรายได้ และจ่ายภาษีเป็นรายได้ให้รัฐ
.
สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบ ผ่านพระราชบัญญัติดังกล่าว ประเทศไทยจึงเริ่มใช้วันที่ ๑ ตุลาคม เป็นวันเริ่มต้นงบประมาณตั้งแต่นั้นมา
.
สรุป คือ ไม่เกี่ยวกับวันคริสต์มาส หรือวันหยุดส่งท้ายปีเลยแหะ 🤣

ติดตามผ่าน Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiEUDem/photos/a.105585231343713/346030977299136/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *