นักศึกษาพลัดถิ่น : จากแดนสารขัณฑ์สู่รัฐสวัสดิการฝรั่งเศส โดย ‘Darlington’

สำหรับเราแล้ว การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมากและเป็นใบเบิกทางได้ในหลายๆด้าน ตั้งแต่เด็กพ่อแม่ของเราให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกๆอย่างที่สุดถึงแม้ฐานะทางบ้านจะไม่ได้มั่งมีอะไรมาก ทั้งให้เรียนพิเศษ จ่ายค่าเทอมในโรงเรียนดีๆให้ ส่วนผู้เขียนก็พยายามกอบโกยให้ได้มากที่สุดจนสุดท้ายก็สอบทุนรัฐบาลฝรั่งเศสมาเรียนต่อปริญญาโทได้ในสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ

การมาเรียนต่อที่ฝรั่งเศสอาจมีขั้นตอนยากง่ายต่างกันไปสำหรับแต่ละคน โดยเฉพาะเรื่องวีซ่าและการหาที่พัก ณ จุดนี้ผู้เขียนขอยอมรับว่าตอนมาไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากอะไรมากนักเพราะมาในฐานะนักเรียนทุนของรัฐฝรั่งเศส เรื่องวีซ่าและที่พักเลยไม่ต้องกังวลมาก แต่ถ้ามาเองอาจจะต้องใช้ความพยายามมากหน่อยในเรื่องนี้ เพราะระบบธุรการของฝรั่งเศสนั้นขึ้นชื่อลือชามากเรื่องความซับซ้อนวุ่นวาย แต่ถ้าเราทำไปตามขั้นตอนตามระบบของมันสุดท้ายทุกอย่างก็จะลงล๊อคของมันไปเอง

วันนี้เลยอยากจะมาแบ่งปันประสบการณ์การใช้ชีวิตที่นี่ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีสาระอะไรมากเพียงแต่เป็นมุมมองหนึ่งของการใช้ชีวิตในฝรั่งเศสของนักศึกษาจากแดนสารขัณฑ์เท่านั้นเอง ทั้งนี้จะแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือชีวิตความเป็นอยู่แล้วก็การเรียนที่นี่แล้วกันนะครับ

ชิวิต : การมาอยู่ฝรั่งเศสปรับตัวยากมั๊ย? การปรับตัวก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนทางวัฒณธรรม (และแน่นอนในโลกทุนนิยมนี้ต้นทุนทางการเงินก็ช่วยได้เพอสมควร แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียว) ด้วยที่เราได้คลุกคลีกับวัฒนธรรมฝรั่งเศสมาตั้งแต่มัธยมปลายจนถึงปริญญาตรี ในกรณีของเราเลยอาจไม่ได้ปรับตัวอะไรยากมากนัก ความที่เราสามารถสื่อสารภาษาถิ่นได้ก็ช่วยได้เยอะเพราะคนฝรั่งเศสค่อนข้างชาตินิยมทางภาษา ถึงแม้รุ่นหลังๆจะเปิดกว้างกว่าในการพูดภาษาสากลแต่อย่าลืมว่ากลุ่มคนที่อยู่ในระบบธุรการและราชการของฝรั่งเศสนั้นคือกลุ่มคนในช่วงอายุก่อนหน้านั้น การรู้ภาษาฝรั่งเศสสำหรับการมาอยู่ที่นี่จึงสำคัญมากเพื่อความราบรื่นในการใช้ชีวิต

ส่วนเรื่องเปิดบัญชีธนาคาร เรื่องระบบธุรการของฝรั่งเศสก็อย่างที่บอก ซับซ้อนวุ่นวายมาก เช่น การไปที่ว่าการทำเรื่องต่อวีซ่าต่างๆ นี่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนเลย แต่ทำๆตามขั้นตอนไปให้ครบสุดท้ายมันก็ลงล๊อคของมันเอง หลังจากขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์และคุณอยู่ในความดูแลของรัฐฝรั่งเศสอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว คุณก็จะได้สิทธิที่ไม่ได้ต่างอะไรกับคนฝรั่งเศสมากนัก (เช่นการศึกษา การรักษาพยาบาล การได้รับเงินช่วยเหลือในหลายๆกรณี เป็นต้น)

แล้วก็ขอชมเรื่องระบบขนส่งสาธารณะของที่นี่หน่อย ไม่สะอาดเท่าไทยนะ (เฉพาะ BTS กับ MRT อ่ะ อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึง) แต่มีไปทุกที่ ราคาเดียวตลอดสาย แถมถ้าคิดกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำยังถือว่าไม่แพงด้วย

คนฝรั่งเศสที่เราเจอๆมานี่ก็น่ารักนะ ขี้บ่นบ้าง อะไรบ้าง แต่ถ้าเรียนฝรั่งเศสมาจะรู้ว่าการบ่นนั้นฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมฝรั่งเศส จะว่าเป็นศาสตร์และศิลป์แขนงหนึ่งของคนฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้ ค่อนๆไปทางการวิพากษ์วิจารณ์เสียมากกว่า คือจะเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผลมาก ซึ่งก็ไม่แปลก การศึกษาที่นี่สอนกึ่งบังคับให้มี esprit critique (critical mind อ่ะ แปลว่าไรวะ ? จิตวิพากษ์ ? เลยไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมในประเทศนี้ไม่มีประธานาธิบดีหรือนายกป่วงๆ มาบริหารประเทศ ) แล้วก็หัดแสดงความคิดเห็นตั้งแต่เด็ก โตมาก็เลยมีความคิดเป็นของตัวเองในระดับหนึ่ง และมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่ได้มากขนาดจะเมินคนรอบข้างนะ อย่างเพื่อนในมหาลัยนี่คือน่ารักมาก คอยช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาตลอด แต่อย่างที่บอกว่าเนื่องจากคนฝรั่งเศสส่วนมากมีความเป็นตัวของตัวเองสูง นางก็จะมีพื้นที่ส่วนตัวที่ค่อนข้างชัดเจน อันนี้ต้องคอยสังเกตเอาเอง จะเป็นมิตรแค่ไหนเราก็ห้ามเข้าไปในโซนส่วนตัวนั้นเด็ดขาด จะคนละอารมณ์กับเพื่อนที่ไทย ของไทยนี่ไปไหนไปกัน เฮฮาปาจิงโกะสุดๆ

แล้วก็ด้วยลักษณะนิสัยนี้เหมือนกัน คนฝรั่งเศสจะมีความเป็น Jusqu’au boutistes (ถึงที่สุด ?) มากๆ เช่นเวลาถกเถียงประเด็นอะไรก็จะเอาให้สุด ไปให้สุดจนแตกหัก ดูเผินๆ เหมือนทะเลาะกัน แต่ในความคิดของเราคือมันคือการตรวจสอบข้อบกพร่องของ argument (ข้อโต้เถียง) ของทั้งสองฝ่ายไปในตัว โดยเฉพาะประเด็นทางมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่เถียงกันยังไงมันก็จะมี “แต่” อยู่เสมอ แต่พอจบการถกเถียงปุ๊บก็กลับสู่โหมดมนุษย์ปุถุชนร่วมโลกกันธรรมดา อันนี้เราชอบนะ เหมือนว่าแทนที่จะมานั่งโอ๋กันจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข (อย่างปลอมๆ) นี่คือต้องสำเหนียกถึงความแตกต่างของกันและกันเอาเองแล้วก็อยู่ร่วมกันให้สงบสุขให้ได้ ถ้านอกจากนี้แล้วคนที่นี่ก็เหมือนคนที่อื่นๆ ในโลกนั่นแหละ แตกต่างปะปนกันไป

ปารีสเป็นเมืองที่สวยนะ ถึงจะสกปรกบ้าง มีกลิ่นฉี่บ้างกลายๆ แต่น้ำไม่ขังและทางเท้าทางจักรยานใช้ได้หมดโดยไม่ต้องกลัวว่าการออกไปเดินเที่ยวแต่ละทีเป็นการแขวนชีวิตไว้บนเส้นด้าย เมืองมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมมาก ทั้งสถาปัตยกรรม ศิลปะ ดนตรี จะเดินเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ วันๆ นึงถ้าเศร้าหน่อยเซ็งหน่อยก็แค่ผูกผ้าพันคอ สวมเสื้อโค๊ทออกไปนั่งจิบกาแฟสักที่ สูบบุหรี่สักมวนสองมวน อ่านหนังสือไปพลางๆ เหม่อมองคนมองอาคารบ้านเรือนรอบๆ บ้างเป็นครั้งคราว แค่นี้ก็สุขใจขึ้นมากแล้ว บางทีนี่อาจจะเป็นมนต์เสน่ห์ของปารีสที่ใครๆ เขาพูดถึงกันก็ได้นะ (ใครๆอย่างเช่น Ernest Hemingway หรือ F. Scott Fitzgerald น่ะ) ไม่ใช่ว่าพอตกกลางคืนแล้วซินเดอเรลล่านั่งรถม้าผ่าน หรือเอลซ่ามาเล่นสเก็ตน้ำแข็งตรงจัตุรัสกลางเมืองอะไรอย่างนั้น นอกจากความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมแล้ว ชีวิตกลางคืนก็ไม่ด้อยไปกว่ากัน โดยฉพาะถ้ารู้จักคนพื้นถิ่นที่จะพาเราไปสัมผัสกับ La décadence parisienne (ความเสื่อมทรามแห่งปารีส) แล้วหละก็ เตรียมปลดปล่อย your deep dark secret ได้เลย ถ้าจะให้เราให้คำแนะนำสำหรับใครที่จะมาปารีส (หรือฝรั่งเศส) เราก็คงบอกให้โละมายาคติของปารีสที่เรารู้จักจากปากต่อปากทิ้งไปซะก่อน แล้วมาดื่มด่ำกับจังหวะชีวิตปาริเซียงอย่างที่มันเป็นจะดีกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่เลวเสียด้วย

การเรียน : ยอมรับว่าตอนมาแรกๆ ก็เหวอเหมือนกัน ถ้าถามว่าต้องปรับตัวกับอะไรไหมก็คงเรื่องการเรียนนี่แหละ นักเรียน (เน้นว่าทางวรรณคดีแล้วกันนะ เพราะก็ไม่กล้าเหมารวมว่าสาขาอื่นเขาเรียนกันแบบไหน) จะต้องมีความเป็น autonomous ( ที่ขึ้นกับตนเอง) มากพอสมควร อาจารย์ไม่ใช้สไลด์ นางก็จะเข้ามานั่งพร้อมกระดาษโน้ตของนางแล้วก็บรรยาย ส่วนนักเรียนก็ขยันถามกันมาก นางจะมี Bibliographie ให้ สนใจอะไรเพิ่มเติมก็ไปอ่านต่อ มีคำถามก็ไปถาม ไม่มีสอบยิบสอบย่อยอะไรทั้งสิ้น การวัดผลประเมินผลส่วนมากจะเป็นการพรีเซนต์หรือทำเปเปอร์ประมาณ 12 หน้า (บางวิชาจะสอบปลายภาคแทน เช่น วิชาประวัติวรรณคดี) หาหัวข้อ หาตัวบท ทำวิจัยต่อ ถามว่ายากมั๊ย ? เอาเป็นว่าช่วงทำเปเปอร์นี่แทบจะกินหนังสือแทนข้าวเลยทีเดียว ธรรมดานะ ถ้าคิดจะเรียนต่อ ไม่ว่าจะเรียนอะไรก็ต้องทำงานหนักทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามี Passion ที่จะเรียนก็จะมีความสุขมาก

ส่วนข้อเสียของมหาลัยในฝรั่งเศสก็เหมือนในภาคส่วนอื่นๆ คือระบบธุรการที่วุ่นวายมาก ชอบมีเรื่องเซอไพรส์ให้ปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นประจำ เป็นเรื่องที่ต้องทำใจว่าถ้าจะมาเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐของฝรั่งเศสนอกจากต้องปวดหัวเรื่องเรียนแล้วก็ต้องเตรียมใจกับระบบธุรการงานเอกสารที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไหร่

แต่แง่ดีของมหาวิทยาลัยรัฐของฝรั่งเศสคือค่าเทอมถูกมาก เงินช่วยเหลือนักศึกษาต่างๆ นาๆ ก็เยอะแยะมากมาย รวมถึงความเป็นเลิศทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ การต้องมานั่งปวดหัวกับระบบธุรการป่วงๆ ในมหาลัยเพื่อแลกกับผลดีหลายๆ อย่างที่ว่ามาอาจไม่ใช่เรื่องแย่นักก็ได้

ตอนนี้เราจบปริญญาโทแล้ว กำลังต่อปริญญาเอกในสาขาเดียวกัน หมดสถานะนักเรียนทุนเรียบร้อยแต่ความช่วยเหลือของรัฐต่อนักศึกษาต่างชาติจากแดนสารขัณฑ์อย่างเราก็ยังคงเหมือนเดิม แถมตอนนี้เราทำงานไปด้วย (เป็นอาจารย์ภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศส) ก็ยังได้รับการยกเว้นค่าเทอม (ทั้งที่ก็ถูกมากๆ แล้วเมื่อเทียบกับที่ไทย)

และเมื่อเราทำงานจ่ายภาษีรัฐ พอเกิดวิกฤตอย่างโควิดก็ไม่ต้องมานั่งกุมขมับว่าชิวิตจะไปยังไงต่อเพราะรัฐก็ยังชดเชยให้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ พอมองกลับไปที่แดนสารขัณฑ์ก็หดหู่เหมือนกัน ตั้งแต่ว่าทำไมพ่อแม่เราจ่ายภาษีแล้วยังต้องทุ่มเทเสียเงินเยอะขนาดนั้นเพื่อให้เราได้รับการศึกษาที่ดีทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐ ทำไมค่าแรงขั้นต่ำถึงต่ำตมขนาดนั้นทั้งที่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ขนส่งสาธารณะของรัฐก็เหมือนถูกแช่แข็งไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่แล้ว จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลดีๆ แต่ละทีถ้าไม่มีเงินก็นอนตายอยู่บ้านนั่นแหละ หรือกรณีล่าสุดคือการบริหารจัดการโควิดของรัฐซึ่งก็อย่างที่เราๆ เห็นกัน

ยอมรับว่าตั้งแต่มาอยู่ฝรั่งเศสนอกจากพ่อแม่ เพื่อนๆ ญาติพี่น้อง อาหารไทย ไม่เคยคิดถึงหรือคิดอยากกลับไปอยู่ประเทศไทยเลย แต่กระนั้นก็อยากให้ประเทศไทยดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ พยายามเข้าร่วมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างประเทศและอื่นๆ เท่าที่เราทำได้ เพราะยังไงคนที่เรารักหลายคนก็ยังอยู่ที่นั่น

ทั้งนี้ ถ้าใครคิดอยากหาทางออกจากแดนสารขัณฑ์เพื่อชีวิตที่ดีกว่าและมีลู่ทางทำได้ก็ทำเลยครับ เกิดมามีชีวิตหนึ่งเราก็คงอยากมีความสุขบ้างเป็นธรรมดา มาแล้วถ้ามีกำลังก็มาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มเราเพื่อผลักดันประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นกำลังใจให้กล่มผู้เคลื่อนไหวที่ยังอยู่ไทยด้วยก็จะดีมากครับ

ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนสนใจเรื่องการเรียนต่อ หรือการทำงานก็พิมพ์โพสถามในคอมเม้นท์ด้านล่างนี้ได้เลยนะ เดี๋ยวเรามาตามตอบให้ หรือทักเฟสบุ๊คมาด้วยก็ได้ตามลิงค์นี้

https://m.facebook.com/plai.sukwichai?ref=content_filter

ทีมยุโรป #ทีมฝรั่งเศส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *