ย้ายประเทศกันเถอะ #ทีมฟินแลนด์

ผมเคยคิดเหมือนคนไทยหลายๆ คน ที่ไม่ค่อยอยากจะจ่ายภาษีสักเท่าไหร่

จ่ายไปก็มีแต่จะเอาไปโกงกินค่าหัวคิวต่างๆนาๆ เหลือมาถึงประชาชนบ้างก็ทำนโยบายที่ไม่ค่อยโดนใจเท่าไหร่
ดีบ้างก็เรื่องสวัสดิการแต่ก็ยังมีปัญหา

ผมมาเปลี่ยนใจก็ตอนที่เมียผมบอกว่าเขาอยากจ่ายภาษี

เมียผมเป็นชาวฟินแลนด์ เธอเรียนจบปริญญาโทโดยไม่เสียตังค์สักมาร์ค
นอกจากจะไม่ต้องเสียค่าเทอมแล้ว เธอยังได้รับเงินเดือนเพื่อช่วยเหลือก่อนเรียนจบด้วย

ความช่วยเหลือจากรัฐนั้น ไม่ใช่แค่ในการเล่าเรียน แต่เรียกได้ว่า ตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอนอย่างแท้จริง
แม่ของเมียผมได้รับการบริการทางสาธารณสุขตั้งแต่ช่วงตั้งท้อง ลูกออกมาปุ๊บ มีกล่องไปรษณีย์กล่องใหญ่มาถึงบ้านปั๊บ ข้างในมีผ้าอ้อม ที่นอนเด็ก เสื้อผ้า อาหาร ของเล่น และหนังสือ สำหรับคุณแม่มือใหม่ให้ได้ใช้ทันที สวัสดิการเหล่านี้มีต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ประชากรทั้งประเทศมีความมั่นคงในชีวิต แม้บางคนจะไม่ร่ำรวยมีเหลือให้ฟุ้งเฟ้อ

ที่เมียผมอยากจ่ายภาษีนั้น ไม่ใช่เพราะเธอใจบุญเป็นแม่พระ แต่เป็นเพราะเธอเห็นว่าทุกคนต้องร่วมกันธำรงระบบไว้
และที่เธอทำเช่นนั้น ก็เพื่อตัวเธอ ลูกๆ และครอบครัวของเธอเอง

จุดนี้สำคัญมากนะครับ ทุกคนยังคงทำเพื่อตัวเองและครอบครัว แต่ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน แข่งขันกัน แต่เป็นการทำไปพร้อมๆ กัน ร่วมกัน เมื่อทำร่วมกันภายใต้ระบบที่ดี ประสิทธิภาพจะเพิ่มพูน คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น

หลายคนเคยได้ยินมาแล้วว่าระบบการศึกษาของฟินแลนด์มีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ยิ่งไปกว่านั้น ฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกด้วยจากหน่วยงานของสหประชาชาติ ไม่ใช่แค่คนฟินแลนด์ที่พูดเองเออเอง จัดอันดับด้วยตัวเลขทางสถิติหลายด้าน เช่น สุขภาพ สวัสดิการ รายได้ ความเท่าเทียม การศึกษา ฯลฯ และไม่ใช่แค่สหประชาชาติ หน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็สรุปออกมาเช่นเดียวกัน

ความสุขไม่ได้มาจากแค่สวัสดิการที่ดี สิ่งแวดล้อมที่สะอาด หรือเศรษฐกิจที่เติบโต แต่รวมถึงนโยบายทางการศึกษา ความเท่าเทียมกันในสังคม และ สังคมที่เปิดให้คนสามารถปรับเลื่อนสถานะได้ (social mobility)

ที่สำคัญมากๆ เลยก็คือการที่สังคมเปิดให้คนสามารถปรับเลื่อนสถานะได้ ซึ่งผมอยากจะย้ำไว้เลยว่านี่คือสิ่งที่ทำให้ฟินแลนด์มีพลังและมีพลวัตรทางสังคม

ลองนึกเปรียบเทียบกับสังคมที่หมอสามารถส่งเสียและอยากให้ลูกได้เป็นหมอหรือ “อย่างน้อย” ก็วิศวกร ในขณะที่ลูกของช่างซ่อมไฟไม่สามารถจะเข้าเรียนต่อได้ในระดับอุดมศึกษา สังคมนี้มีโอกาสให้คนเลื่อนสถานะภาพได้ต่ำมาก
ลูกคนรวยก็รวยยิ่งขึ้นต่อไป
ลูกคนจนก็จนอยู่ต่อเนื่อง

ในสังคมที่มี social mobility สูง ผู้ปกครองและเด็กจะมีความหวัง มีความคิดสร้างสรรค์ และความพึงพอใจสูงมาก นั่นเป็นเพราะอะไร และมีประโยชน์อย่างไร

ตลอดทั้งวงจรชีวิตของตัวเองและต่อเนื่องถึงลูกหลาน ชาวฟินแลนด์ได้รับประโยชน์จากระบบสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ได้รับเงินเดือน ที่พัก และค่าเทอม ไปจนถึงผู้บริหารบริษัทเอกชนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะรัฐบาลที่มั่นคงมีนโยบายที่ต่อเนื่อง มีแรงงานมีความรู้ความสามารถ และสังคมมีความปลอดภัย

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีชาวฟินแลนด์น้อยคนที่จะคิดว่า เขาควรจะทำงานให้น้อยลงเพราะกลัวว่าจะต้องจ่ายภาษี “เผื่อ” คนที่ไม่ได้ทำงาน และจากการที่คุณภาพชีวิตได้รับการรับประกัน ชาวฟินแลนด์ก็สามารถที่จะเลือกทำงานได้ตามที่ตนเองถนัดและสนใจ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานที่รายได้สูงเท่านั้น นี่คือปัจจัยที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้มนุษย์มีความสุข

เด็กไทยฐานะปานกลางคนหนึ่งซึ่งเก่งทั้งเลขและดนตรีน้อยคนที่จะเลือกเรียนต่อด้านดนดรี ด้วยคิดว่าเป็นวิศวะหรือหมอย่อมมีรายได้มากกว่าการเป็นนักดนตรี

แต่ถ้าเด็กคนเดียวกันนั้น อยู่ในสังคมที่มีสวัสดิการ ระบบการศึกษา และค่านิยมที่ดี อัจฉริยะภาพทางดนตรีของเธออาจจะได้รับการดูแลและดึงออกมาอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยเธอจะไม่ถูกบอกตลอดเวลาว่าอาชีพและรายได้สำคัญกว่าศิลปะ ดนตรี ความงาม และสุนทรี

ด้วยสังคมที่มีลักษณะเช่นนี้ พ่อแม่ชาวฟินแลนด์น้อยคนมากที่จะบังคับให้ลูกเรียนในสาขาที่ลูกไม่ต้องการเพียงเพราะคิดว่าลูกๆ ควรทำเงินให้ได้มากๆ และมีสถานะทางสังคมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ชาวฟินแลนด์ไม่อยากให้ลูกได้พัฒนาเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ตรงกันข้าม พวกเขา make sure ว่าลูกๆ จะมีชีวิตที่ได้ด้วยการจ่ายภาษีอย่างไม่บกพร่อง เพื่อประกันว่าลูกๆ จะได้อยู่ในสังคมที่มีคุณภาพ

ในสังคมที่มีทัศนคติเชิงบวกต่อความสุขเช่นนี้ ประชาชนจะมีความกล้าที่จะทำตามความฝัน ความถนัด และ ความรู้ของตัวเอง ในฟินแลนด์ ลูกของชาวนา สามารถเรียนจบปริญญาโทและเป็นสถานปิก (เช่นในกรณีของแม่เมียผม) และลูกของนักธุรกิจผู้ร่ำรวย เลือกที่จะเป็นนักบำบัดม้าเพราะเธอรักที่จะทำงานและอยู่กับสัตว์ (เช่นในกรณีของเพื่อนสนิทเมียผม)

ย้อนกลับมาดูตัว ในกรณีของผม ผมเลือกที่จะเรียนมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ (เพราะคิดว่ามันน่าอยู่) และเลือกเริ่มทำงานกับองค์กรไม่หวังผลกำไรในค่ายผู้ลี้ภัย แทนที่จะไปเรียนและหางานเงินเดือนดีๆในกรุงเทพ ผลที่ได้ก็คือ ผมมีความสุขมากๆ กับชีวิต การเรียน และอาชีพที่ทำ

เส้นทางที่เลือก ยังช่วยให้ผมมีความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ที่ช่วยให้ผมได้รับทุนไปเรียนต่อและทำงานในต่างประเทศ

” แต่จะทำได้ทั้งหมดนี้ ผมต้องเป็นเด็กที่เห็นแก่ตัวและโลกแคบในสายตาของผู้ใหญ่ “

เมื่อผมบอกว่าจะไม่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยชั้นสูงส่ง หรือเลือกทำงานในจังหวัดชายแดน ผมได้รับ “คำแนะนำ” รวมถึงคำวิจารณ์ค่อนขอดอย่างต่อเนื่องยาวนานเพื่อให้ผมเปลี่ยนใจ แต่โชคดี ที่ผมได้ยืนยันจุดยืนมาตลอด และมีพี่ชายพี่สาวที่เรียนในมหาลัยที่แพงและมีอาชีพที่รายได้สูง ทำให้พ่อแม่ไม่บังคับผมมากนัก

เล่าเรียงมาทั้งหมดนี้ ผมก็ยังไม่สามารถแนะนำให้เพื่อนของผมบอกลูกว่าไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ ถ้าลูกของเขาอยากเป็นจิตรกร หรือออกมาทำธุรกิจ start-up นั่นเพราะสังคมไทยยังไม่มีหลักประกันและระบบสวัสดิการที่ดีขนาดที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ขนาดนั้น

แต่ผมมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่สูงมากๆ ทั้งในระดับปัจเจก ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถที่หลากหลาย และในระดับสังคม/ประเทศ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มีการเริ่มต้นระบบสวัสดิการ และมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ

เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ปัญหาที่เราคิดว่าหนักในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอรัปชั่น เรื่องระบบราชการ หรือเรื่องเศรษฐกิจ ผมยังคิดว่า มันไม่ได้หนักหน่วงวิกฤตถึงขึ้นแก้ไขไม่ได้ แนวทาง บทเรียน และทุนในการปรับแก้ปัญหานั้นมีอยู่แล้ว

ผมยังเชื่อว่าสักวันหนึ่ง คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะสามารถผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีความหวังมากกว่านี้
แล้ววันหนึ่ง เราจะอยากเสียภาษีกันอย่างเต็มใจ และไม่มีใครอยากย้ายออกจากประเทศไทยด้วยความสิ้นหวังกับอนาคตของประเทศ

มิตรสหายฟินแลนด์ท่านหนึ่ง

ย้ายประเทศกันเถอะ

ทีมยุโรป #ทีมฟินแลนด์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *