วันนี้ 9 กันยายน 2564 ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้แถลงข่าวที่รัฐสภา ลาออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2564
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 (6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171
.
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูล โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญ
.
ซึ่งมาตรา 171 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ
.
จึงเห็นได้ว่า หากเป็นการลาออกจริงตามที่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวอ้าง จะต้องมีพระบรมราชโองการให้ ร.อ. ธรรมนัส ลาออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 170 (2) แต่ตามราชกิจจานุเบกษาปรากฎว่าพระบรมราชโองการได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 171 การพ้นจากตำแหน่งของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงเป็นการพ้นจากตำแหน่งโดยเป็นการปลดออกจากตำแหน่งโดยนายกรัฐมนตรี ตามหลักทั่วไปที่ว่ารัฐมนตรีมาจากการมอบหมายความไว้วางใจ (ถูกไล่ออกนั่นเอง)
.
ไม่ว่าเบื้องหลังจะเป็นการขอให้ ร.อ. ธรรมนัส ลาออก แต่ ร.อ. ธรรมนัส ไม่ยอมลาออก จึงต้องไล่ออก หรือว่าร.อ. ธรรมนัส ตั้งใจจะลาออกแต่แรก ย่อมเห็นได้ว่า เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในพรรคพลังประชารัฐ
.
The Standard วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ว่า ร.อ. ธรรมนัส อาจจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนักในสายตาของคนภายนอกจากเรื่องราวคดีความในอดีต แต่หากมองจากคนในพรรคพลังประชารัฐเขาคือคีย์แมนคนสำคัญในการทำงาน ในช่วงก่อร่างตั้งรัฐบาลผสมประยุทธ์ 2 ร.อ. ธรรมนัส คือผู้นั่งเฝ้าพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงตัดสินใจว่าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลประยุทธ์ นอกจากนี้ เขาคือคนบริหารจัดการพรรคเล็กต่างๆ ให้อยู่ในร่องในรอยจนเป็นที่มาของวาทะ ‘แจกกล้วย’
.
ขณะที่การเลือกตั้งซ่อมทุกครั้ง ร.อ. ธรรมนัส นั่งประธานวอร์รูมนำทีมกวาดชัยชนะเลือกตั้งซ่อมได้ทั้งหมด เพิ่มเสถียรภาพในสภาของรัฐบาลประยุทธ์จนเข้มแข็ง ผลงานโดดเด่นชนิดหาตัวเปรียบแทบไม่ได้ เป็นที่ไว้วางใจของพี่ใหญ่ ‘พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง ร.อ. ธรรมนัส กับ พล.อ. ประยุทธ์ อาจจะเรียกได้ว่าห่างเหินไม่แนบชิด และที่สำคัญ พล.อ. ประยุทธ์ก็ไม่ได้ส่งเสริม ร.อ. ธรรมนัส เท่าที่ควรเมื่อเทียบกับผลงานที่เขามี สิ่งนี้คือความรู้สึกที่สะสมจนเกิดเป็นคลื่นใต้น้ำและมาระเบิดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา
.
การปลด ร.อ. ธรรมนัส ออกจากตำแหน่งจึงเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเลื่อยขาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อีกต่อไป สุดท้าย ผู้ชนะจะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์บันทึกลงไปในราชกิจจานุเบกษาบอกเล่าเหตุการณ์นี้แก่คนรุ่นหลังว่า
.
“…นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า สมควรให้รัฐมนตรีบางคนพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์แก่ราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีดังต่อไปนี้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี 1.ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์…” (ราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 9 กันยายน 2564 เล่ม 138 ตอนพิเศษ 121 ง หน้า 1)
อภิปรายไม่ไว้วางใจ #มันคือแป้ง
-https://www.matichon.co.th/politics/news_2931373
-https://thestandard.co/breaking-thammanat-resigned-from-deputy-minister-of-agriculture-and-cooperatives/