อะไรคือความสามารถที่ ประยุทธ์ ปูติน และ “พี่เอ้” สุชัชวีร์ มีเหมือนกัน?

ชั่วโมงนี้เราอาจจะตอบได้อย่างไม่ยากเย็นนักว่าคือการคุยโวอวดโอ้สรรพคุณของตัวเอง
แต่อะไรล่ะคือสิ่งที่ทำให้ “พี่เอ้” ท็อปฟอร์มโดดเด้งออกมาจากสองคนแรก?

คำตอบอาจเป็นเพราะว่าเรื่องที่แกตัดสินใจโม้นั้นเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับแวดวงวิชาการ และนั่นทำให้การตรวจสอบทำได้เพียงปลายนิ้วคลิก เพียงเท่านั้นการคุยโวก็เปลี่ยนเป็นการโกหกผ่านสื่อในทันที

เรื่องของเรื่องมันมาจากที่มีการเผยแพร่บทความที่ดร.สุชัชวีร์เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับนิตยสาร Howe Magazine โดยระบุไว้เป็นโควทส่วนหนึ่งว่าตนเองนั้น “… มีผลงานวิชาการในต่างประเทศกว่า 100 เรื่อง มีสิทธิบัตรในต่างประเทศ 5 สิทธิบัตร และผลงานวิชาการมีการอ้างอิงเป็นอันดับ 5 ของโลก” ดูไปก็น่าชื่นชมหากจะมีคนไทยที่มีความสามารถทางวิชาการเป็นเลิศและได้รับการยอมรับในระดับสากลได้ในถึงเพียงนี้ แต่อย่างไรก็ดี หากไปตรวจสอบในฐานข้อมูลวิชาการ Scopus จะพบว่า ณ เวลาที่เขียนบทความนี้โปรไฟล์ของ ศ. ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ระบุว่าตั้งแต่ปีค.ศ. 1999 เจ้าตัวมีผลงานที่เคยลงตีพิมพ์ในระดับนานาชาติทั้งหมด 29 ชิ้น ถูกอ้างอิงรวมทั้งหมด 498 ครั้ง และมี h-index = 8 ซึ่งเอาเข้าจริงไม่ใช่ตัวเลขที่น่าเกลียดเลย

ถ้าไม่ติดที่ว่าจำนวนผลงานที่ตีพิมพ์จริงนั้นน้อยกว่าที่เคลมไว้ว่า “มากกว่า 100 เรื่อง” เกิน 3 เท่าตัว แม้จะพยายามยกประโยชน์จำนวนผลงานที่มากขึ้นตั้งแต่การเคลมเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันที่คาดว่าผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม และจำนวนการอ้างอิงที่ 498 ครั้งนั้นแน่นอนว่าไม่ถึงแม้แต่หนึ่งในสองแสนอันดับแรกของโลก ย้ำว่าสองแสนนะครับ เลขสองและมีศูนย์ตามหลังอีกห้าตัว (เอาแค่อันดับหนึ่งของลาดกระบังที่มีจำนวนอ้างอิงเกือบหนึ่งหมื่นครั้งยังอยู่ที่อันดับสามหมื่นนิดๆ ของโลกเลย) นี่ยังไม่นับว่าจำนวนการอ้างอิงประมาณสามในสี่ของจำนวนการอ้างอิงทั้งหมดนั้นมาจากสองงานที่ตีพิมพ์โดยมีชื่อของอาจารย์ที่ปรึกษาที่ MIT พ่วงไว้เมื่อช่วงปี 2006-2007 เท่ากับว่างานตีพิมพ์ที่เหลือ 27 ชิ้นนั้น มียอดรวมการอ้างอิงไม่ถึง 125 ครั้งเท่านั้นในช่วงเวลาเกือบสิบห้าปีที่ผ่านมา หรือหากจะพูดอีกแบบหนึ่งก็คือจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ไม่ได้สะท้อนคุณภาพของนักวิจัยและผลงาน

โดยรวมได้อย่างแท้จริงเนื่องจากมีเพียงแค่สองบทความเท่านั้นที่มีจำนวนการอ้างอิงสูง นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ดัชนี h-index เพื่อชี้วัดทั้งประมาณและคุณภาพไปพร้อมๆ กัน ซึ่งค่า h-index จะคำนวณมากจากจำนวนผลงานและการอ้างอิงในผลงานนั้นๆ ด้วย ตัวเลขที่มากขึ้นจะแสดงให้เห็นว่ามีจำนวนงานมากและแต่ละงานก็ได้รับการยอมรับโดยการอ้างอิงต่อมากตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น นาย A มีค่า h-index = 8 หมายความว่า นาย A มีผลงานอย่างน้อย 8 บทความและมีการอ้างอิงในทุกๆ บทความอย่างน้อย 8 ครั้ง ซึ่งนาย A อาจจะมีจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ทั้งหมดเป็นร้อยก็ได้ แต่ค่า h-index จะถูกคำนวณตามบทความที่มีการอ้างอิงมากเพียงพอเท่านั้น (ในกรณีนี้คือมากกว่า 8 และจะเพิ่มเป็น 9, 10, 11, … อย่างนี้ไปเรื่อยๆ)

โดยรวบรัดก็คือค่า h-index จะทำให้เห็นภาพใหญ่ได้กว้างว่า นอกจากแค่จำนวนบทความหรือจำนวนอ้างอิงเพียงอย่างเดียว ซึ่งค่า h-index = 8 ของ “พี่เอ้” เองก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่อะไร แต่ที่แน่ๆ ไม่ติดอันดับหนึ่งในพันแม้แต่ในไทยเองด้วยซ้ำ ในสายวิศวกรรมท็อป 100 ก็มีค่าดัชนีนี้เกือบ 20 แล้ว ไม่ว่าจะมองมุมไหน การบอกว่ามี “ผลงานวิชาการมีการอ้างอิงเป็นอันดับ 5 ของโลก” ดูจะเป็นจริงเฉพาะในโลกแห่งจินตนาการเท่านั้น

ตัวเลข h-index นี้เคยเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการปรับแก้เกณฑ์การขอตำแหน่งวิชาการและนำดัชนีนี้มาใช้ ซึ่งหนึ่งในเกณฑ์ที่ใช้ขอตำแหน่งศาสตราจารย์มีการกำหนดให้ในสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ต้องมี h-index อย่างน้อย 18 และมีจำนวนการอ้างอิงรวมมากกว่า 1000 ครั้ง ซึ่งหากพิจารณาด้วยเกณฑ์นี้ ศ.ดร. สุชัชวีร์ ก็ยังไม่ผ่านสักเกณฑ์ที่จะยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์ เรียกได้ว่ายังไม่ถึงครึ่งทางเลยดีกว่า อย่างไรก็ดีแม้ว่า ณ เวลาที่พี่แกได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในปี 2012 นั้น สิริรวมมีบทความตีพิมพ์ทั้งหมด 12 บทความ และยอดอ้างอิงรวม 72 ครั้ง แต่ด้วยเหตุผลกลใดสักอย่าง ตำแหน่งศาสตราจารย์ก็มานำหน้าชื่อแกได้อย่างมหัศจรรย์ เพราะแต่เดิมการได้รับตำแหน่งวิชาการมาจากการ “พิจารณา” ของ “คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” นี่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการขอ-ให้ตำแหน่งวิชาการแบบไทยๆ ที่ไม่ได้พิจารณาที่ตัวผลงานจริงๆ แต่โน้มเอียงไปอิงกับการเป็น “เด็กดี” ของผู้มีอำนาจ เป็นการกดทับซ้อนกดทับแม้แต่ในแวดวงที่เป็นหนึ่งในความหวังและแสงสว่างทางปัญญาให้กับมนุษยชาติมากที่สุด

ในปัจจุบันนี้กฎเกณฑ์ทั้งหลายที่นำมาใช้และมีไม่น้อยที่ตัวผู้ออกกฎเองยังไม่เคยทำได้เลยด้วยซ้ำ จึงไม่น่าแปลกใจนักเมื่อคนที่จะอาสามารับใช้ประชาชนยังสามารถโกหกคำโตได้ขนาดนี้ บอกไว้ก่อนว่านี่ขนาดยังไม่ได้รับตำแหน่งนะ

https://www.scopus.com/authid/detail.uri?authorId=6507818960

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *