เลิกอ้างว่า “งบคนละส่วนกัน” ได้แล้ว ! เราตั้งคำถามในภาพรวมว่าทำไมเราถึงต้องเอาเงินภาษีมาจัดสรรให้เป็นงบประมาณของกองทัพเอาไปจัดซื้ออาวุธ ? เงินที่กองทัพเอาไปซื้ออาวุธนี่มาจากเงินรายได้ต่างๆ ของกองทัพที่กองทัพหักไว้เพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมของตนเองไหม ? คำตอบ คือ ไม่ใช่ ! เงินงบประมาณในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารมาจากงบประมาณทั่วไปที่มาจากภาษีของประชาชน !!! ไม่ได้มาจากการทำมาหากินอะไรของกองทัพเลย !
เรือดำน้ำ vs กฎหมาย
…..
หลักทั่วไปในการจัดสรรทรัพยากรไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไรและหลาย ๆ คนก็คงจะเห็นพ้องต้องตรงกันว่าในสถานการณ์แบบนี้ เราควรจะทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดไปให้กับการสาธารณสุขของประเทศ ไม่ใช่กิจการด้านกลาโหม แต่สำหรับใครที่มีความเนิร์ดหน่อยก็อาจจะอยากหาหลักการกฎหมายอะไรบางอย่างมาฟาดกับสลิ่มหิวแสงหรือ io300 ที่ชอบอ้างว่า #มันงบคนละส่วนกัน
หลักการนั้นก็คือหลักทั่วไปทางงบประมาณที่ชื่อว่า “หลักงบประมาณ(หรืองบประมาณรายได้)ต้องมีลักษณะทั่วไป (principe d’université budgétaire)” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าหลักรายได้ต้องไม่มีความผูกพันกับรายจ่ายของหน่วยงาน เรียกร้องให้รายได้ของรัฐทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะมีที่มาจากทางใดต้องมีลักษณะทั่วไปโดยไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นเจ้าของ องค์กรที่มีหน้าที่จัดเก็บรายได้ให้กับรัฐจะต้อง “นำเงินรายได้ทั้งหมด” ส่งให้กับคลังกลางของรัฐโดยไม่สามารถนำรายได้นั้นไปหักด้วยรายจ่ายขององค์กรดังกล่าว เนื่องจากองค์กรของรัฐแต่ละองค์กรย่อมได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจอยู่แล้ว หลักการดังกล่าวปรากฏในพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4
หลักการนี้สะท้อนให้เห็นว่าเงินรายได้ของรัฐนั้นจะต้องนำส่งคลังเป็น “เงินก้อนเดียวกันทั้งหมด” (en une seule masse de l’ensemble des recettes brutes sur laquelle doit s’imputer l’ensemble des dépenses brutes) โดยไม่สนใจว่าใครเป็นคนจัดเก็บไม่ว่าจะเป็นสรรพากร ศุลกากร ท้องถิ่น ฯลฯ ก่อนที่รัฐจะเอาไปบริหารจัดการต่อไปว่าจะเอาไปจัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายอะไร ซึ่งแน่นอนว่ารายได้หลักของรัฐมาจาก #ภาษีของประชาชน เมื่อรัฐได้เงินก้อนมาแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องบริหารจัดการเงินก้อนนั้นว่าจะเอาไปใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์กับประชาชนเจ้าของเงินภาษีมากที่สุด
คำถาม คือ เมื่อรัฐจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งให้กับกองทัพแล้ว กองทัพจะมาอ้างได้หรือไม่ว่า “เงินที่เอาไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางทหารเป็นเงินงบประมาณของกองทัพ จะเอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้” จะเอาไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ยังไง มัน #งบคนละส่วนกัน ?
คำตอบคือ ถูกและก็ไม่ถูก
ที่ถูกคืองบประมาณตรงนั้นเป็นงบประมาณที่จัดสรรให้กองทัพ เราจะเอาเงินตรงนั้นไปซื้ออย่างอื่นไม่ได้ตามหลักงบประมาณรายจ่ายต้องมีลักษณะเฉพาะเจาะจง (principe de spécialité budgétaire) ซึ่งปรากฏในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 35 (และสามารถโอนย้ายได้ตามเหตุผลและความจำเป็นที่กฎหมายกำหนด)
แต่ที่ไม่ถูกคือ นั่นไม่ใช่ประเด็น ! เราตั้งคำถามผิดตั้งแต่แรก ! (โว้ย)
ประเด็นคือเราต้องตั้งคำถามในภาพรวมต่างหากว่าทำไมเราถึงต้องเอาเงินก้อนนั้นมาจัดสรรให้เป็นงบประมาณของกองทัพเอาไปจัดซื้ออาวุธ ? เงินที่กองทัพเอาไปซื้ออาวุธนี่มาจากเงินรายได้ต่างๆ ของกองทัพ ที่กองทัพหักไว้เพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมของตนเองไหม ? เหมือนอย่างที่มหาวิทยาลัยเก็บค่าธรรมเนียมและเอาเงินตรงนั้นไปบำรุงห้องสมุด ฯลฯ (อย่าให้ สลิ่ม300 หรือ ioหิวแสง มาบิดเบือนตั้งคำถามไม่ถูกแต่แรก)
คำตอบคือ ก็ไม่ เงินงบประมาณในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารมาจากงบประมาณทั่วไปที่มาจากภาษีของประชาชน !!! ไม่ได้มาจากการทำมาหากินอะไรของกองทัพเลย ถ้ากองทัพเอาเงินจากการเก็บเงินค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ หรือการขายตั๋วแสดงโชว์ในงานวันเด็ก ฯลฯ จะไม่ว่าสักคำเลย
ดังนั้น ทำไมประชาชนจะตั้งคำถามกับรัฐไม่ได้ว่าทำไมถึงเอาเงินภาษีของประชาชนจำนวนมหาศาลไปจัดสรรให้กับกองทัพในยามที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับวิกฤติสุขภาพคนตายเป็นใบไม้ร่วงแบบนี้ (คือไม่ได้บอกว่ากองทัพเรือไม่จำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ แต่มันใช่เวลาซื้อตอนนี้ไหม ?)
นอกจากนีั พระราชบัญญัติงบประมาณฯ มาตรา 7 กับมาตรา 23 ยังวางหลักอีกว่า “การจัดทำงบประมาณจะต้องคำนึงถึงฐานะทางการคลัง ความจำเป็น เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ฯลฯ และใช้จ่ายอย่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ”
คำถามคือ เวลานี้วัคซีนกับเรือดำน้ำอันไหนสำคัญกว่ากัน ?
….
อ้างอิง/ อ่านเพิ่มเติม
- Stéphanie Damarey, Finances Publiques, Gualino, 2021, p.67
- ไทยรัฐ, กองทัพเรือ รับ เดินหน้าเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำ ตามปกติ ไร้วาระซ่อนเร้น, https://www.thairath.co.th/news/politic/2143002, 17 กรกฎาคม 2564.
- ประชาไท, ‘พิธา’ เผยกองทัพถอนเรือดำน้ำ แต่อุปกรณ์เรือยังอยู่ ทั้งระบบควบคุม อู่ซ่อมและโดรน, https://prachatai.com/journal/2021/07/94048, 19 กรกฎาคม 2561.
- ไทยรัฐ, แลกเรือดำน้ำกับอะไรได้บ้าง? (..งบประมาณเรือดำน้ำ 2 ลำ 22,500 ล้านบาท เราจะได้วัคซีน Astra 123 ล้านโดส ฉีดได้ 61 ล้านคน..), https://www.facebook.com/146406732438/posts/10160745155017439/?sfnsn=scwspmo
ปรับเนื้อหาบางส่วนจากเพจ กฎหมายการคลัง
ร่วมสนับสนุนกิจกรรมของ We fair ในวันที่ 19 กรกฎาคม https://www.facebook.com/190621035089013/posts/1007656390052136/?sfnsn=scwspmo