ขณะที่ไฟแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อสมรสเท่าเทียมกำลังคุกรุ่น โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาคณะภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมได้เป็นแกนนำเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการแต่งงานภายในกลุ่ม LGBTQI ตนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยการจัดการชุมนุม ปราศรัย การแสดง และตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ
เพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการสมรสของไทย เนื่องจากในปัจจุบันนี้กฎหมายไทยรับรองแต่เพียงสิทธิของคู่สมรสชายหญิงเท่านั้น
.
ทว่าเพียงไม่กี่วันต่อมา ได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในกรณีว่าด้วยการสมรส ตามมาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ที่จำกัดขอบเขตุแห่งสิทธิไว้เพียงการสมรสระหว่างหญิงหรือชายตามเพศกำเนิดเท่านั้น ว่าข้อกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่
แต่ในคำวินิจฉัยฯ กลับปรากฏว่าเป็นคำวินิจฉัยที่มีผลบิดเบี้ยวในหลายระนาบ และเกิดกระแสต่อต้านในสังคมอย่างสุดแรงโหมกระหน่ำ นอกจากคำวินิจฉัยฯ ชิ้นนี้ จะมิได้รับการยอมรับจากมวลประชาแล้ว
ยังจะยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ามาตรา 1448 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขมากเพียงใด
.
ความบิดเบี้ยวที่ปรากฏในคำวินิจฉัยที่ผู้เขียนพอจะวิเคราะห์และเรียบเรียงเข้าด้วยกันได้ มีดังนี้
.
- ความบิดเบี้ยวในการนิยามสถาบันครอบครัว
.
เป็นที่ทราบกันดีว่า การแต่งงานคือการสถาปนาเชิดชูความสัมพันธ์ของคนสองคน ซึ่งการเข้าไปผูกสัมพันธ์กับใครคนใดคนหนึ่งนั้น มันเป็นเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่พึงมีมาตั้งแต่กำเนิด
รัฐหรือเทวดาหน้าไหนก็ไม่อาจเข้ามาแทรกแซงการแสดงออกซึ่งสิทธินี้ของเราได้
.
การขีดเส้นแบ่งจำกัดความเป็นไปได้ของเพศวิถีและเพศสภาพภายใต้กรอบทวิลักษณ์แล้ว ยังลามไปกระทั่งว่า การแต่งงานต้องเป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์เพียงอย่างเดียว แสดงให้เห็นโลกทัศน์อันล้าหลังและคับแคบของตุลาการไทย ยังความสิ้นหวังมายังคนในสังคม
.
อันที่จริงแล้ว รัฐต้องให้การปกป้องสถาบันครอบครัวที่เกิดจากการก่อเจตนาของคนสองคน
ที่ประสงค์จะร่วมชีวิตกันเท่านั้น
รัฐ ไม่อาจยื่นมือเข้ามาลิดรอนสิทธิของปัจเจกด้วยเหตุแห่งเพศได้
.
การวางหลักของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ นับเป็นการผลิตซ้ำบรรทัดฐานรักต่างเพศ (Heteronormativity)
ซึ่งขับกล่อมสังคมว่า ความสัมพันธ์รักต่างเพศ คือ วิถีที่สังคมพึงปรารถนามากที่สุด
และเบียดขับบุคคลที่ไม่เขานิยามตามบรรทัดฐานนี้ ให้กลายเป็น “บุคคลที่ไม่พึงปรารถนา”
เนื่องจากเขาเหล่านั้นไม่สามารถสร้างครอบครัวเชิงเดี่ยวเพื่อผลิตแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบตลาดเสรีตามความคาดหวังของอุดมการณ์รัฐชาติสมัยใหม่
.
ถึงแม้ว่าเจตนารมณ์หนึ่งของกฎหมายครอบครัวคือการรักษาสถาบันครอบครัวอันเป็นรากฐานสำคัญของประชากรในรัฐชาติสมัยใหม่ กระนั้น คำว่า “ครอบครัว” ที่ถูกนิยามในคำวินิจฉัยฉบับนี้กลับสร้างความเคลือบแคลงต่อสังคมมวลรวมว่าขอบเขตของสถาบันแห่งนี้ครอบคลุมไปเพียงใด?
.
ตามความเข้าใจโดยทั่วไป ครอบครัวคือหน่วยพื้นฐานที่สุดของสังคม ที่ประกอบด้วยบุคคลที่มารวมตัวกันไม่ว่าจะผ่านทางสายเลือด การสมรส หรือการอุปถัมภ์ก็ตาม ภายใต้ความเข้าใจนี้ แม้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวจะไม่ได้เชื่อมโยงกันด้วยเงื่อนไขทางชีวภาพ ก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวได้แล้ว
หากบุคคลใดพึงพอใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันไปโดยไม่มีลูก ก็เป็นสิทธิเช่นกัน เพราะการมีลูกเป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือกของบุคคลเท่านั้น หาใช่เงื่อนไขก่อกำเนิดของการมีครอบครัวไม่
.
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าทุกคนย่อมเป็นประธานแห่งสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงสามารถแสดงสิทธิตามธรรมชาตินี้ออกมาได้ตามเจตจำนงเสรีของตน
.
มิเช่นนั้นแล้วบุคคลที่ไม่อาจมีบุตรได้ด้วยข้อจำกัดทางชีววิทยา (เป็นหมัน)
ก็จะถูกปฏิเสธซึ่งสิทธิบนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาออกไปจนหมดสิ้น และถูกปัดไปเป็นคนชายขอบ (Marginalized) ในที่สุด
.
- ความบิดเบี้ยวในเรื่องการคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็ก
.
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่า ความผูกพันอันละเอียดอ่อนถูกสงวนไว้เฉพาะคู่รักชายหญิงเท่านั้น
คู่รักเพศเดียวกันไม่อาจมี นั่นเท่ากับท่านกำลังชี้ว่ามนุษย์เพศชายโดยทั่วไปไม่อาจรักและดูแลลูกของตนให้ดีได้เช่นนั้นหรือ?
.
พวกเราเองก็อยากจะถามย้อนกลับไปด้วยว่า ท่านได้อ่านข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันทุกวันนี้หรือไม่ว่ามีเด็กกี่คนแล้วที่ถูกข่มขืน หรือถูกซ้อมจนถึงแก่ชีวิต ภายใต้ครอบครัวที่มีความผูกพันอันละเอียดอ่อนของชายหญิงอย่างที่ท่านอ้างนั่น
.
นั่นหมายความว่าการเป็นคู่รักชายหญิง ไม่เคยและไม่อาจเป็นตัวกำหนดได้ว่าจะทำให้สถาบันครอบครัวสมบูรณ์ มีเงื่อนไขเพียบพร้อมต่อการเลี้ยงดูมนุษย์ตัวน้อยคนหนึ่งที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าได้
.
ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจสถาปนาความจริงสัมบูรณ์ (Absolute Truth)
เพราะในโลกในความเป็นจริงนอกเหนือจากโลกทางบรรทัดฐานกฎหมาย (Normative World) นั้น อัตลักษณ์ของบุคคลมีความซับซ้อนและเลื่อนไหลเกินกว่าที่จะถูกจัดจำแนกและนิยามตามกล่องเพศแบบชายหรือหญิงเพียงอย่างเดียว โดยด่วนตัดสินและเหมารวมว่าหากเป็นหญิงแล้วจะเลี้ยงดูบุตรได้ดีกว่า หรือต้องชายและหญิงเลี้ยงดูร่วมกันเท่านั้นจึงจะดี ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศอันเป็นผลลัพธ์ประการสุดท้ายที่เราไม่ต้องการให้สังคมไทยไปถึง
.
และหากบุคคลใดพึงปราถนาที่จะมีลูก กฎหมายครอบครัวก็เพียงมุ่งที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก
(Best Interests of a Child) ให้พวกเขาเหล่าไม่ต้องโดนละเมิด ทั้งทางจิตใจและร่างกาย และได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้ปกครอง
.
ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ การที่ศาลกำหนดว่าการมีครอบครัวต้องเป็นไปตาม “กฎธรรมชาติ” ภายใต้เหตุผลทางชีววิทยาที่ล้าสมัยที่ถูกแอบอ้างเพื่อเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของโลกนิติแบบอนุรักษ์นิยม
จึงเป็นการให้เหตุผลที่ผิดฝาผิดตัว และไม่อาจปรับใช้ได้กับความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน
. - ความบิดเบี้ยวในเหตุผลทางรัฐธรรมนูญ
.
การแต่งงานและการสร้างสถาบันครอบครัวจะเกิดขึ้นได้ก็โดยการสถาปนาของสังคม โดยมีหมุดหมายปลายทางคือการรับรองเสรีภาพของปัจเจกในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง อันเป็นการรับประกันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา
ใครจะตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกับใครมันก็เป็นไปโดยเจตจำนงของเขาเอง ปัจเจกมีสิทธิในการกำหนดชีวิตของตนให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ หลักการเหล่านี้อยู่ภายใต้หลักใหญ่ว่าด้วยหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
.
ในนานาอารยประเทศ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นยอดปราถนาของ
การดำรงไว้ซึ่งหลักการนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ดังเช่นในสหพันธรัฐเยอรมนีได้มีการบัญญัติหลักการว่าด้วยเสรีภาพโดยทั่วไป (Allgemeine Handlungsfreiheit) อย่างชัดเจนใน มาตรา 2 วรรคแรก ประโยคแรก
แห่งรัฐธรรมนูญสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (Grundgesetz) โดยคำว่า Handlung นี้มีความหมายโดยตรงว่า
“การกระทำ” นั่นหมายความว่า มาตรานี้ได้รับรองให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำการใดตามแต่ใจต้องการ
.
เมื่อผนวกหลักการเสรีภาพโดยทั่วไปข้างต้นเข้ากับหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Menschenwürde) อันมิอาจถูกละเมิดได้ ตามที่ได้ประกาศไว้ในมาตราแรกแห่งรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ผ่านกรอบทฤษฎีการขวนขวาย (Leistungstheorie) ที่อธิบายว่าทุกคนมีสิทธิในการกำหนดอัตลักษณ์และค้นหาตัวตน (Identitätsbildung und Selbstfindung) การที่บุคคลจะครอบครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเองได้อย่างบริบูรณ์นั้น เขาจะต้องกระทำการต่างๆ ที่นำไปสู่การพานพบกับตัวเองในแบบที่อยากจะเป็นในที่สุด
.
ในการนี้ รัฐมีหน้าที่ต้องรับรองกระบวนการขวนขวายอัตลักษณ์ดังกล่าว ไม่ใช่ไปบอกให้เขาฝืนธรรมชาติ
เพื่อสนองกรอบโลกทัศน์ชายเป็นใหญ่ เพราะเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ไม่ได้จำกัดไว้ที่การสืบพันธุ์เพื่อเป็นองคภาวะทางชีวภาพแต่เพียงอย่างเดียว เพราะกระบวนการสร้างอัตลักษณ์หมายรวมถึงการสร้างตัวตนทางจิตวิญญาณด้วย
.
นอกจากนั้น การเปลี่ยนคำว่า “ชายหรือหญิง” ในมาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้เป็น “บุคคล” ตามข้อเรียกร้องของภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมและภาคประชาสังคม ไม่อาจกระทบหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ เพราะโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายครอบครัวนั้นต้องการคุ้มครองคนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน คำว่า “บุคคล” โดยทางรัฐธรรมนูญแล้ว จึงหมายถึงคนโดยธรรมชาติ ดังเห็นในรัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ได้กำหนดให้บรรดาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเป็นของคนตามธรรมชาติ (Natürliche Person) ซึ่งก็คือคนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่กำลังอ่านบทวิจารณ์นี้นั่นเอง ไม่ได้ต้องการข้อกำหนดวิเศษใดนอกเหนือไปจากหลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิตามธรรมชาติเลย
.
กล่าวคือ สิทธิเสรีภาพทุกอย่างของเรานั้นเป็นบริบูรณ์ติดตัวมาตั้งแต่อยู่รอดและคลอดเป็นทารก และตั้งแต่วินาทีนั้น บุคคลก็เป็นประธานแห่งสิทธิและสามารถใช้สิทธิทุกอย่างได้ครบถ้วน เป็นไปตามหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่อธิบายผ่านทฤษฏีสิทธิเสรีภาพที่ได้ประทานมา (Begabungstheorie) อันมีรากฐานทางภูมิปัญญามาจากกฎหมายศาสนาในยุคกลาง ซึ่งคริสตจักรยังไม่แยกตัวจากรัฏฐาธิปัตย์ โดยตามนิยามนี้ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลจะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ เนื่องจากเป็นสิทธิที่ได้รับมาจากพระเจ้าตามจารีตกฎหมายภาคพื้นทวีป
.
ทว่าในบริบทของประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญกลับเลือกรับและปรับใช้แนวความคิดดังกล่าวมาเฉพาะที่สอดรับกับรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) แบบดั้งเดิมที่ถูกครอบงำอยู่ใต้จักรวาลวิทยาพุทธแบบไทย ๆ ก่อกำเนิด
การกลายพันธ์ุของความคิดทางรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง
.
เราจะมองเห็นได้ว่าการเปลี่ยนคำตามกฎหมายบัญญัติจาก “ชายหญิง” เป็น “บุคคล” ไม่เป็นการละเมิดสิทธิผู้ใดหรือเพิ่มภาระแก่คู่ชายหญิงอื่นๆ ตามที่ศาลอ้างในคำวินิจฉัยแต่อย่างใด
มิหนำซ้ำจะเป็นการขยายการรับรองสิทธิของคนโดยรัฐให้กว้างขวางขึ้นตามที่ควรจะเป็นอีกด้วย
การใช้คำว่าบุคคลจะสถาปนาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของตัวตนและอัตลักษณ์ที่จะถูกรับรองโดยรัฐ
.
คำวินิจฉัยนี้จึงสร้างความเคลือบแคลงต่อสังคมว่า สรุปแล้วศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือ เป็นผู้รักษาอำนาจอื่นใด?
.
หากจะให้ลองพิเคราะห์เหตุผลเบื้องหลังคำวินิจฉัยฉบับนี้ เราก็คงคิดได้เพียงแค่ว่า การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของมนุษย์นี้ไปสั่นคลอนโลกทัศน์ของตุลาการไทยที่แฝงฝังบรรทัดฐานรักต่างเพศนั่นเอง!
.
พวกเราได้แต่หวังว่าสักวันตุลาการไทยจะกล้ายื่นมือออกมาแตะโดมแก้วที่ครอบตัวเองอยู่ แม้ว่ามันจะเสี่ยงต่อการต้องมองเห็นโดมแก้วนั้นพังทลายลงไปกับตาก็ตาม เมื่อนั้นพวกเขาก็คงจะได้ตระหนักเสียทีว่า โลกภายนอกนั้นมีความเลื่อนไหลและเป็นพลวัคของสรรพชีวิต มากกว่ากรอบเพศแบบหญิงหรือชายเพียงอย่างเดียว เมื่อนั้น เราหวังว่าประเทศของเราก็คงจะเจริญ
ปราชญ์ปวิณ | ปิ่นประภา
3 ธันวาคม 2564