โชคชะตาคือนักแสดงตลกโดยธรรมชาติ บางครั้งที่เต็มไปด้วยความอภิรมย์และบ่อยครั้งที่หัวเราะไม่ออก แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เรายังคงต้องย่ำเดินไปบนถนนชีวิตอันเป็นเฉพาะตน เมื่อเวลาแห่งยุคสมัยของเรานั้นเป็นดั่งสายน้ำที่ไม่ไหลย้อนกลับ มันคงจะดีไม่น้อยหากเราจะได้เลือกเส้นทางชีวิตด้วยตนเอง ด้วยฝ่าตีนของตนเอง และแม้ว่าปลายทางจะไม่ได้เป็นอย่างที่วาดฝันไว้ แต่แน่นอนว่าการเจ็บปวดจากการได้ทำนั้นเทียบกันไม่ได้กับการไม่ได้พยายามลองทำอะไรเลย
บทความต่อจากนี้ เขียนขึ้นด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจจะเรียนต่อต่างประเทศแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเนื่องจากเป็นประสบการณ์ส่วนตัว เนื้อหาส่วนใหญ่จึงเกี่ยวพันอยู่กับสายวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาเอกแบบเต็มเวลาและตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าผลการเรียนในระดับก่อนหน้านั้นไม่ได้ดีเด่นอะไรและเรียนไม่เก่งเหมือนผม
เม เดอะ ฟอร์ซ บี วิธ ยู,
………..
ส่วนที่ 1. ตัดสินใจ วางแผน และเตรียมตัว
ในบรรดาเนื้อหาทั้งหมดที่สติปัญญาอันมีจำกัดจำเขี่ยของผมจะไปถึง นี่คือส่วนที่สำคัญที่สุด ควรใช้เวลากับมันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ละวันที่ผ่านไปหมายถึงอายุขัยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน หากคุณเลือกจะเรียนต่อ นั่นหมายความว่าคุณจะต้องสละเวลาอย่างมหาศาลเพื่อทำอะไรบางอย่างน้อยคนนักจะเข้าใจและอาจจะไร้ประโยชน์ในบางแง่มุม และในช่วงเวลาเดียวกกันนี้ก็ไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นของคุณใช้เวลาช่วงเดียวกันนี้สร้างความมั่นคงในฐานะการงานและครอบครัว มีบ้านมีรถมีทายาท คุณจะรู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยก ควบคู่ไปกับความรู้สึกแง่ลบหลากหลายประการเมื่อคุณตระหนักได้ว่าในห้วงเวลานี้คุณไม่สามารถช่วยประคับประคองสถานะเศรษฐกิจทางบ้านหรือของใครได้เท่ากับการเลือกทำงานอย่างเต็มตัว คุณจะต้องพลัดพรากจากหลายสิ่งหลายคนที่คุณรักเป็นระยะเวลานาน ไม่มากก็น้อย คุณจะถูกหยามเหยียดดูแคลน คุณจะถูกเอารัดเอาเปรียบ คุณจะต้องพยายามและอดทนมากกว่าที่เคยทำมาทั้งชีวิต คุณจะต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณจะว้าเหว่และท้อแท้ และอีกสารพันปัญหาที่อย่าได้หวังใครมาเพิ่งพิงได้อย่างที่อยู่ในประเทศบ้านเกิด ทั้งหมดที่ว่ามานี้คุณรับมันได้ไหม คุณเผชิญหน้ากับมันอย่างองอาจได้ไหม โปรดใคร่ครวญมันอย่างถี่ถ้วน และหากคำตอบในหัวใจนั้นคือการลุยเข้าไปไว้ว่าจะเป็นอย่างไร อย่าลังเล เราจะไม่ถามตัวเองซ้ำอีก ข้อแนะนำบางประการสำหรับขั้นตอนต่อไปที่อาจเป็นประโยชน์ขอเรียบเรียงเป็นข้อๆดังนี้
1.1. ความถนัดเฉพาะด้าน
หากตัดสินใจแล้วว่าจะเรียนต่อ ประเด็นต่อมาคือแล้วจะเรียนอะไร?
เราอาจผ่านสถานการณ์เช่นนี้มาแล้วเมื่อครั้งเรียนต่อในระดับมัธยมรวมไปถึงระดับอุดมศึกษา คงจะมีไม่น้อยที่ผิดหวังกับสิ่งที่เลือก นี่อาจเป็นโอกาสอีกครั้งที่จะได้ลองอะไรใหม่ๆ หรือสำหรับบางคนที่รู้สึกดีกับสาขาที่เรียนอยู่แล้วในระดับหนึ่ง นี่คือหนทางที่มีไว้สำหรับความหลงใหล อุดมการณ์ และ ฯลฯ นานาเหตุผลในการเลือกพัฒนาความรู้ในแต่ละสาขานั้นเป็นปัจเจก และผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าใครควรเลือกเรียนอะไร และในเมื่อเราจะต้องอยู่กับมันไปจนวันตาย ยืนหยัดเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวคล้องกันกับสิ่งเหล่านี้ไปจนลมหายใจสุดท้าย และเราจะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนในโลกที่เข้าใจมันได้อย่างถ่องแท้ อีกครั้ง มันจึงควรเป็นอะไรถูกใคร่ครวญอย่างรอบคอบและอย่างระมัดระวังอย่างที่สุด หากความสนใจของคุณนั้นค่อนข้างกว้างและยังคงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดไม่ได้ หนึ่งในปัจจัยควรสนใจคือความเป็นที่นิยมในขณะนี้และแนวโน้มในอนาคต และคุณควรหาคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้มีประสบการณ์หลายๆท่านในสายงานเดียวกันกับที่คุณสนใจ คุณคงไม่อยากจบมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถไฟพลังงานไอน้ำขณะที่ทั้งโลกใช้งานรถไฟพลังงานไฟฟ้าใช่ไหม ตัวอย่างสาขาที่น่าจะมีอนาคตอีกยาวไกลก็เช่น พลังงานทางเลือก, การตัดต่อ-รักษาโรคในระดับพันธุกรรม, ฟิสิกส์ควอนตัม-อนุภาค, บิ๊ก ดาต้า, ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น ทั้งนี้ การเลือกที่ว่าควรจะมีความเฉพาะเจาะจงในระดับหนึ่ง สามารถใช้เป็นหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ได้อย่างคร่าวๆหรือกำหนดเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึงได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง
1.2 เตรียมตัว
อันที่จริงส่วนนี้ก็สามารถทำควบคู่ไปหัวข้อก่อนหน้านี้ได้หากคุณยังพอมีเวลาเช่นว่ายังอยู่ก่อนปีสี่เทอมสองหรือเพิ่งต่อโท คุณจะได้ใช่เวลานับจากนี้เพื่อเสาะหาสาขาที่คุณสนใจและอยากเรียนรู้ พยายามติดตามงานวิจัยจากวารสารวิชาการและสื่อชั้นนำอย่างสม่ำเสมอ ส่วนตัวของผมเองใช้วิธีบอกรับอีเมล์จากเว็บไซต์ในเครือของ Nature, Science, MIT technology review, ACS, RSC และ ฯลฯ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของวงการว่าเป็นไปในทิศทางไหน และเป็นตัวช่วยทำให้ให้เราแน่ใจว่างานที่เราทำอยู่นี้มาถูกทาง
และหากคุณยังเป็นนักศึกษาที่กำลังทำวิทยานิพนธ์หรือปัญหาพิเศษ คุณควรจะตั้งเป้าว่าจะผลิตผลงานทางวิชาการแบบนานาชาติให้ได้อย่างน้อยสักหนึ่งชิ้น นี่จะสามารถเป็นตัวช่วยให้คุณได้แม้ว่าเกรดของคุณจะหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ ในกรณีของผม เกรดแทบไม่มีผลในการคัดเลือกเลย ที่ได้มาเรียนต่อนี่หลักๆเลยคือผลงานทางวิชาการ เพราะฉะนั้นขอให้ยอมเหนื่อยหน่อยนะครับ บางครั้งงานที่ทำอาจจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานสามารถเรียนจบได้แล้ว แต่ถ้าทำเพิ่มเติมหรือหาแง่มุมที่น่าสนใจมานำเสนออีกสักนิดก็อาจจะทำให้ได้มีผลงานตีพิมพ์แล้ว ที่สำคัญคืออย่าท้อ การถูกปฏิเสธเป็นเรื่องธรรมดา ขอให้เล็งวารสารที่อยากตีพิมพ์ไว้ก่อนเลย และควรส่งไปในกลุ่มของ Q1 ก่อนเพราะส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการพิจารณารวดเร็วกว่า บางครั้งเราจะได้คำแนะนำดีๆมาปลอบใจด้วย เจ็บบ่อยๆเข้าไว้จะได้ชินครับ สู้ๆ
ทีนี้มาเข้าเรื่องหลักสำหรับส่วนนี้คือการเตรียมตัวเพื่อหาและสมัครทุนในอนาคตกัน ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบไปด้วย
1.2.1. ประวัติส่วนตัวโดยสังเขป [Curriculum Vitae (CV)]
การจัดวางข้อมูลใน CV นั้นอาจจะมีข้อปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกันไปในแต่ละที่ แต่ทั้งหมดนั้นจะบรรจุด้วยข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับตัวเราทั้งที่อยู่ การติดต่อ ประวัติการศึกษา ผลงานวิชาการ เกียรติประวัติรางวัลและทุนการศึกษาที่เคยได้รับ กิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมทั่วไป และชื่อที่อยู่ของบุคคลอ้างอิง ในกรณีนี้บุคคลอ้างอิงควรจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและหัวหน้างานที่เราเคยทำ (ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่เราจะยื่นสมัคร) จำนวนสองคนเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ เขาเหล่านั้นควรจะเป็นคนที่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับความสามารถและความเป็นมาของเราได้ดี นัยหนึ่งคือพร้อมจะสนับสนุนเราในกรณีที่ผู้รับสมัครต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการหลังหัก อย่าลืมแจ้งให้เขาเหล่านั้นทราบก่อนด้วย และในอนาคตอาจจะต้องอาศัยจดหมายรับรองจากบุคคลอ้างอิงด้วย รายละเอียดจะอยู่ในส่วนต่อไป (ดูหัวข้อ 1.2.4)
การเรียบเรียงควรจะใส่ข้อมูลเท่าที่จำเป็น จัดวางให้เรียบง่าย ชัดเจน อ่านง่ายได้ความ เพราะคนอ่านจะใช้เวลาอ่าน CV ของคุณไม่ถึงครึ่งนาทีเสียด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นต้องใส่รูปไปด้วย แต่จะใส่ไปด้วยก็ได้ถ้ามั่นใจว่ารูปลักษณ์ของคุณจะทำให้คุณดูคูลดูฉลาดและดูจะสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับคนที่จะรับคุณไปเรียน โดยส่วนตัวผมใช้รูปแบบอักษรแบบ Time New Roman ขนาด 12 pt ทั้งหมด ยกเว้นชื่อที่เป็นหัวข้อ ใช้ขนาด 14 pt ตัวหนา แต่ก็อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่าไม่ได้มีรูปแบบตายตัว คุณจะใช้แบบไหนก็เลือกเอาเถอะ
1.2.2. จดหมายนำ, จดหมายสมัครงาน, จดหมายแรงบันดาลใจ, Statement of Purpose (Cover Letter, Application Letter, Motivation Letter)
นี่เป็นส่วนที่สำคัญมากในการสมัครขอทุน โดยจดหมายทั้งสามแบบจะแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย ขึ้นอยู่กับว่าผู้รับสมัครต้องการข้อมูลแบบไหน จดหมายนำและจดหมายสมัครงานจะเป็นส่วนที่เปิดโอกาสให้เราเขียนแนะนำตัว อธิบายประวัติ คุณสมบัติและประสบการณ์ซึ่งเป็นส่วนขยายของข้อมูลใน CV ความสนใจในอนาคต และเหตุผลที่ต้องการเรียนต่อในที่นั้นๆอย่างสั้นๆ ในความเห็นส่วนตัวของผม ข้อมูลในจดหมายทั้งสองแบบแทบจะไม่ต่างกัน เพียงแค่จดหมายสมัครเรียนจะมีความเป็นทางการและรูปแบบที่ชัดเจนกว่า หรือในบางประเทศแค่เรียกแตกต่างออกไปเท่านั้น
จดหมายแรงบันดาลใจจะเน้นหนักในเรื่องเหตุผลที่เราสมัครตามชื่อนั่นแหละ เพราะฉะนั้นประวัติและประสบการณ์ก็อาจจะไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก เน้นไปที่ความฝัน แรงบันดาลใจ เหตุผลในการสมัครเสียมากกว่า ซึ่งก็จะคล้ายๆกับ Statement of Purpose แต่อันหลังนี่ออกจะเป็นรูปแบบของเรียงความที่หากเขียนได้สวยงามก็จะเป็นแต้มต่อในระดับหนึ่ง เรื่องของสำนวนภาษาและการเรียบเรียงก็แล้วแต่ชอบเลยครับ จะดราม่า จะอุดมการณ์กล้าแกร่ง หรือจะจินตนาการบรรเจิดอย่างไรก็ตามแต่ท่านเห็นสมควร แต่ในกรณีที่ไม่มีกำหนดความยาวของจดหมาย เราควรจะคุมให้อยู่ภายในสองหน้ากระดาษ แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวผมคือหน้าเดียวจบ เอาเฉพาะเนื้อๆเน้นๆ อ่านแล้วน่าสนใจ ก็อย่างที่บอกไป จะมีสักกี่มากน้อยที่จะนั่งอ่านเรื่องน้ำๆของเราสองสามหน้าจนจบ ตัวอย่างจดหมายที่เขียนออกมาได้มีประสิทธิภาพสามารถสืบค้นได้ตามอินเตอร์เน็ต มหาวิทยาลัยชื่อดังมากมายที่นิยมรับนักศึกษาผ่านการเขียนเรียงความ เราสามารถศึกษาและนำมาปรับใช้ในจดหมายของเราได้
จดหมายส่วนนี้จะเปลี่ยนเนื้อหาไปตามตำแหน่งที่สถานที่ที่เราสมัคร เพราะฉะนั้นเตรียมเฉพาะประโยคและข้อมูลเบื้องต้นก็พอ และควรเขียนขึ้นใหม่เมื่อต้องการสมัครในตำแหน่งหนึ่งๆ ทุกครั้งไป เพื่อความสอดคล้อง ตรงประเด็นมากกว่า พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและเอาใจใส่ของเราด้วย
1.2.3. เอกสารสำคัญส่วนตัว
หนังสือรับรองคุณวุฒิ ทรานสคริปต์ ในระดับก่อนหน้า หรือหนังสือรับรองสถานะและใบเกรดแบบภาษาอังกฤษควรไปขอมาแต่เนิ่นๆ และสแกนเก็บเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ให้เรียบร้อย รวมไปถึงเอกสารอย่างหนังสือเดินทาง (ตรวจสอบวันหมดอายุด้วย ควรมีอายุมากกว่าหกเดือน) บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ใบประกาศนียบัตรที่เกี่ยวข้อง ควรมีติดเครื่องและในไดร์ฟบนอินเตอร์เน็ตไว้ ถ้ามีเหตุได้ใช้จะได้ไม่ต้องไปวิ่งวุ่นหา ผลสอบภาษาอังกฤษก็ควรจะมีไว้ หรือถ้ายังไม่มีก็ควรจะวางแผนสอบเสียแต่เนิ่นๆ เพราะบางครั้งมีโอกาสที่ดีมากแต่เอกสารไม่ครบไม่พร้อมจะมาเสียดายเอาทีหลัง ส่วนรายละเอียดประสบการณ์การเตรียมตัวสอบภาษาอังกฤษขอให้ไปดูในหัวข้อแถม
1.2.4. เอกสารเพิ่มเติมประกอบการสมัคร
ในบางกรณีจำเป็นต้องใช้เอกสารอื่นเพิ่มเติมเช่น ข้อเสนองานวิจัย (Research Proposal), แผนการเรียน(Study Plan or Research Plan) และ ผลการแปลงเกรดเป็นรูปแบบของที่ที่เราสมัคร เอกสารส่วนนี้โดยปกติแล้วจะกำหนดรูปแบบมาให้ว่าต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ความยาวไม่เกินกี่หน้า และมีวิธีคำนวณมาให้ หากเราเลือกสาขาและงานที่เราอย่างจะทำแล้วก็คงจะใช้เวลาไม่นานในการเขียน ไว้ค่อยเขียนเป็นกรณีๆ ไป
เอกสารอีกส่วนหนึ่งที่ใช้บ่อยมากคือจดหมายแนะนำหรือจดหมายรับรอง (Recommendation Letter) จากบุคคลอ้างอิงของเรา (Reference Person, RP) อันได้แก่อดีตอาจารย์ อาจารย์ที่ปรึกษา หรือหัวหน้างาน โดยธรรมเนียมแล้วจดหมายนี้จะถูกส่งจาก RP ของเราถึงหน่วยงานหรือบุคคลที่รับสมัครโดยตรงผ่านอีเมล ในกรณีนี้จึงต้องส่งใหม่ทุกครั้งที่มีการสมัคร จึงควรใช้ความพิถีพิถันในการขอความอนุเคราะห์ RP แต่ละท่านนะครับเพราะอาจจะต้องได้รบกวนอยู่บ่อยครั้ง และควรบอกกล่าวข้อมูลให้ครบถ้วนเท่าที่จะเป็นไปได้ทุกครั้งไป ส่วนอีกกรณีนั้นการสมัครอาจจะต้องอัพโหลดไฟล์นี้ผ่านอินเตอร์เน็ตโดยใช้ชื่อบัญชีที่เราต้องสมัครกับเว็บไซต์นั้นๆหรือไม่ได้ระบุอย่างชัดเวนว่าต้องส่งโดยตรงจาก RP เพื่อความสะดวกรวดเร็วและไม่เป็นการรบกวน RP เราจนเกินไป เราอาจจะขอไฟล์จดหมายนี้มาเก็บไว้เอง โดยที่ข้อความข้างในไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงไปที่โครงการใดหรือสถาบันใด และสามารถนำไปใช้สมัครด้วยตนเองได้เลย ทั้งนี้และทั้งนั้น เราควรพูดคุยปรึกษากับ RP ของเราก่อนเสียให้ถ้วนถี่เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาตามมาทีหลัง จดหมายรับรองนี้โดยทั่วไปมีอายุไม่เกินหกเดือน แต่โดยส่วนตัวคิดว่าการเตรียมให้ใหม่ (เช่น จดหมายลงวันที่ 20 ใช้สมัครวันที่ 23) จะทำให้ดูมุ่งมั่นเอาใจใส่กว่า
……….
ส่วนที่ 2. หาแหล่งทุน
เมื่อกายพร้อมใจพร้อมแต่ตังค์ไม่พร้อม เราก็จะมาหาทุนเรียนกัน โดยเนื้อหาในส่วนนี้จะไม่รวมเอาทุนที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางแล้วเช่น Fullbright, Erasmus, Endeavour, MEXT และทุนอื่นๆในโครงการจากประเทศไทยซึ่งคิดว่าคุณจะสามารถหาข้อมูลได้จากแหล่งข้อมูลอื่น แต่จะนำเสนอวิธีแบบหาบ้านๆที่ส่วนตัวเคยใช้บริการมาแล้วและคิดว่าเป็นประโยชน์แทน จะขอแบ่งเป็นสามหัวข้อหลักๆ ดังนี้
2.1. เว็บไซต์หาทุนทั่วไป
อันดับแรก หากคุณยังเรียนอยู่และยังพอมีเวลา แนะนำให้ไปค้นหาทุนที่เหมาะกับเราและบอกรับข่าวสารจากเว็บไซต์ที่รวบรวมทุนจากทั่วโลก เช่น scholarship-positions.com, scholarships.com, armacad.info, collegeboard.org, scholarshipportal.com, internationalscholarships.com, fastweb.com, เป็นต้น เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกและตั้งค่าข่าวสารในขอบข่ายที่ต้องการแล้วนอนกระดิกตีนรออ่านเมลที่โดยเฉลี่ยจะได้รับเมลอัพเดตจากแต่ละแหล่งอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง เมื่ออ่านคร่าวๆ แล้วเจอทุนที่น่าสนใจจึงค่อยไปค้นหารายละเอียดต่อ วิธีนี้จะทำให้ประหยัดเวลาในการค้นหาทุนได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งมีเวลามากก็ยิ่งมีข้อมูลมากตามกันไป อย่าลืมปรับตั้งค่าให้ตรงกับความสนใจจะได้ไม่เสียเวลา
ในบรรดาทุนทั้งหลายทั้งปวงนั้น จะมีบางทุนที่รับเฉพาะนักศึกษาจากบางกลุ่มประเทศ เช่น กลุ่มอาเซียน กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น (แนะนำ scholars4dev) รวมไปถึงบางโครงการที่รับนักศึกษาจากไทยโดยตรง เช่น Ernst Mach Grant, Nuffic Neso Thailand, Peter J. Henge ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรับเข้าได้ส่วนหนึ่ง ลองค้นหาโดยพ่วงคำอย่าง ASEAN, Thai, Thailand ดูนะ
2.2. เว็บไซต์หาทุนเฉพาะประเทศและสายงาน
ถ้ามีประเทศในดวงใจที่อยากไปเรียนอยู่แล้ว แนะนำให้ใช้เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลในประเทศหรือกลุ่มประเทศนั้นๆ โดยตรงจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนกว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในแต่ละประเทศจะมีรูปแบบการรับเข้าที่แตกต่างกันไป บางที่จะรับเข้าช่องทางเดียวผ่านมหาวิทยาลัยเป็นเทอมๆ ไป ซึ่งเป็นที่นิยมในอเมริกา นิวซีแลนด์ บางที่รับผ่านคณะหรือองค์กรผู้ให้ทุน และบางที่ก็รับผ่านตัวบุคคลเลยซึ่งก็คืออาจารย์ที่ปรึกษาของเรานั่นแหละ การรับเข้าอันหลังสุดนี่โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะสะดวกแล้วมีโอกาสมากที่สุด ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (ไม่รวมอังกฤษ) จากประสบการณ์ส่วนตัวขอแนะนำตามประเทศดังนี้
- EURAXESS สำหรับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (นี่คือเดอะเบสต์ ผมได้ทุนก็เพราะหาจากที่นี่แหละ)
- Academic Positions สำหรับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ
- Vitae สำหรับสหราชอาณาจักร
- Research-Explorer และ DAAD สำหรับประเทศเยอรมัน
- StudyinXXX โดยเปลี่ยน XXX เป็น Sweden, Denmark, Holland สำหรับประเทศสวีเดน เดนมาร์ก เนเธอแลนด์ตามลำดับ
- CampusFrance สำหรับประเทศฝรั่งเศส
- Grants.au สำหรับประเทศออสเตรีย
- Good University Guide สำหรับประเทศออสเตรเลีย
- Russia.study สำหรับประเทศรัสเซีย
- JPSS สำหรับประเทศญี่ปุ่น
สำหรับประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา จีน เกาหลี ผมไม่ค่อยสันทัดเพราะผมหาแหล่งข้อมูลกลางไม่เจอและไม่ค่อยได้หาด้วยวิธีนี้เลย แต่จะมีวิธีอีกรูปแบบใช้ได้ผลจะขอแนะนำในส่วนถัดไป การสืบค้นอีกทางหนึ่งที่ใช้ได้ดีเช่นกันคือหาจากสายงาน ในส่วนของวิทยาศาสตร์ก็เช่น ScienceCareers และ NatureJobs ส่วนสาขาอื่นก็น่าจะหาได้ไม่ยาก ลองทดสอบด้วยคีย์เวิร์ดต่างๆ กันดูนะ
2.3. สืบค้นจากมหาวิทยาลัย และอาจารย์ที่ปรึกษา
การหาทุนจะสะดวกขึ้นเมื่อเรามีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ในกรณีที่เรามีมหาลัยในดวงใจอยู่แล้วก็อย่ารอช้า เปิดเข้าเว็บไซต์มหาวิทยาลัยที่เราหมายปองหรือสืบค้นด้วยชื่อบวกด้วยคำเหล่านี้ PhD, Master, positions, Open positions, Job opportunities, Vacancies, Jobsite, Job offers, Job database, Fellow, Funding, Scholarship ลองไปผสมๆกันดูนะ ส่วนใหญ่แล้วเราจะเจอหน้าเว็บประกาศตำแหน่งว่าง ในกรณีที่ประเทศที่เราหมายปองไม่มีฐานข้อมูลกลางที่พอจะสืบค้นได้อย่างที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ก็สามารถใช้วิธีนี้แทนได้ จะได้ข้อมูลที่ตรงและน่าจะครบถ้วนสมบูรณ์เท่าที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ จะมีให้เราได้
หากทางมหาวิทยาลัยไม่มีสื่อกลางอย่างเป็นทางการก็อย่าเพิ่งยอมแพ้ไป ให้ตามต่อไปยังเว็บไซต์คณะหรือสาขาที่เราต้องการ ตรงนี้จะยังมีหวังอยู่ว่าเค้าทำส่วนประกาศรับงานไว้ให้ก็สืบค้นเอาเลย แต่ถ้ามันดูแล้วละม้ายคล้ายกับเว็บคณะของบ้านเราที่ปีนึงอัพเดตครั้งนึงก็อย่าเพิ่งหมดหวัง ขุดลึกลงไปยังสาขาย่อยหรือกลุ่มงานที่เราสนใจต่อไปอีก อย่างน้อยเราจะได้รายชื่อและกลุ่มวิจัยย่อยในคณะมาให้เราได้ตามต่อ หากเราไม่รู้จักมักคุ้นกับใครเลยก็ให้ลองอ่านหาข้อมูลดูว่าใครคนไหนทำงานวิจัยเกี่ยวกับอะไร ขอบเขตอยู่ตรงไหน เน้นไปในทิศทางไหน และตรวจดูด้วยว่ามีเปิดรับนักศึกษาเพิ่มเติมไหมซึ่งส่วนมากจะมีบอกในหน้าแนะนำบุคลากรหรือกลุ่มงานหรือไม่ก็ในเว็บไซต์ของกลุ่มวิจัยนั้นๆ
เมื่อพบอาจารย์ที่ปรึกษาที่น่าจะสอดคล้องกับงานที่เราอยากทำของเราแล้ว ก็จะคล้ายกับการมีรายชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาในใจอยู่ก่อนแล้วด้วย เพิ่มเติมให้ว่าวิธีหาคนที่เราอยากเรียนด้วยนั้นคงไม่ยากถ้าเราตามงานวิจัยอยู่ตลอด จะมีกลุ่มคนที่เราอ่านงานของเขาเหล่านั้นแล้วถูกจริต ชอบในผลงานหรือการนำเสนออันใดก็ดี แต่ถ้าคุณไม่ค่อยได้ติดตามความเคลื่อนไหว คุณควรจะไปหาข้อมูลเบื้องต้นมาก่อนว่าเบื้องหลังเบื้องหน้าตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างไร ควรจะอ่านผลงานของพวกเขาเบื้องต้นก่อน เมื่อได้ข้อมูลติดต่อแล้วก็เตรียมตัวสมัคร
……….
ส่วนที่ 3. การสมัครและการสัมภาษณ์คัดเลือก
เมื่อพบทุน ตำแหน่ง หรือกลุ่มวิจัยที่หมายปองแล้ว ขั้นต่อไปคือการสมัคร ส่วนหนึ่งจะเป็นการสมัครผ่านแพลตฟอร์มของเครือข่ายสถาบันหรือองค์กรนั้นๆ คืออัพโหลดไฟล์ตามที่กำหนดและกรอกข้อมูลอีกนิดหน่อยสามสี่นาทีก็เสร็จ อีกส่วนจะเป็นการสมัครโดยใช้อีเมล ซึ่งในยุคสมัยที่การสื่อสารรวดเร็วฉับไวและหลากหลาย อาจทำให้นักศึกษาในรุ่นหลังนี้ไม่ค่อยคุ้นชินกับการเขียนอีเมลแบบเป็นทางการนัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ก็ไม่ได้ใช้นี่นะ แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ มีข้อแนะนำบางประการในการเขียนในหัวข้อแรก หัวข้อถัดไปจะเกี่ยวกับการสัมภาษณ์
3.1. การเขียนอีเมลสมัครเรียน
ชื่อเมล์ – ระบุให้ชัดเจนถึงจุดประสงค์ของเรา เช่น Application for PhD position, Applying for PhD position อะไรเทือกนี้
หัวจดหมาย – Dear Prof. Dr. XXX, โดย XXX ควรจะใส่ชื่อเต็ม และการติดต่อครั้งต่อๆ ไปจะเป็นแค่ชื่อหรือนามสกุลตามความนิยมในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เสียหาย โปรดตรวจทานตัวสะกดให้ถูกต้องครบถ้วนและถ้ามีอักษรพิเศษก็ควรใส่ตามนั้น หรือถ้าเป็นโครงการที่รับโดยส่วนกลางก็จะใส่เป็น Application Committee หรืออะไรประมาณนี้ไป
เนื้อความ – เขียนให้กระชับ ตรงประเด็น และสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เหตุผลก็อย่างที่บอกไป ศาสตราจารย์ทุกคนไม่มีให้ทุกตัวอักษรในกล่องจดหมาย ถ้าเป็นการสมัครตามประกาศตำแหน่งหรือทุนก็ให้บอกไปเลยว่ามาสมัครตามที่ได้ประกาศไว้ แต่ถ้าเป็นการส่งสมัครเอาดื้อๆ โดยไม่มีประกาศไว้ ก็ควรเริ่มด้วยการแนะนำตัวเองก่อนและตามด้วยจุดประสงค์ จากประสบการณ์ส่วนตัว ควรทำจดหมายสมัคร (Application Letter) แยกเป็นไฟล์ไว้ต่างหากเพื่อลดความเยิ่นเย้อของจดหมาย ข้อมูลรายละเอียดจึงควรไปอยู่ในนั้นแทนการใส่ไว้ในอีเมล และควรจะรวมเข้ากับไฟล์เอกสารอื่นๆ ทำเป็นไฟล์แนบเพียงไฟล์เดียว โดยรวมเนื้อหาส่วนนี้ควรจะมีเฉพาะส่วนที่จำเป็นคือ จุดประสงค์ รายละเอียดของไฟล์แนบ และการติดต่อกลับ
ลงท้าย – Yours sincerely, Your faithfully สำหรับการติดต่อครั้งแรก และ Best regards ในครั้งต่อๆ ไป บางแห่งนิยมอย่างอื่นก็ลองศึกษาดูครับ ใช้เวลาไม่นาน
เวลาที่ส่ง – เพื่อเพิ่มโอกาสที่จดหมายขอเราจะถูกเปิดอ่าน (อย่างน้อยๆ สามครั้งที่เมลของผมไม่ถูกเปิดอ่าน ต้องตามสอบถามจึงได้รู้ว่าเค้าไม่เห็นเพราะเมลมันเยอะ) หากสามารถเลือกได้ ควรจะส่งเมลไปในเวลางานตอนเช้าของวันกลางสัปดาห์ อังคาร-พฤหัส เวลาที่ว่านี้คือเวลาท้องถิ่นของสถานที่ที่เราจะส่งไป ตัวอย่างเช่นจะส่งมาที่อังกฤษในเดือนเมษายนซึ่งเวลาจะช้ากว่าไทยหกชั่วโมงก็ควรส่งตอนบ่ายสอง-บ่ายสามโมงเย็นของที่ไทย เป็นต้น
เมลติดตามความเป็นไป – โดยทั่วไปถ้าเราสมัครเป็นโครงการใหญ่ จะมีเมลแจ้งผลให้เราในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ได้รับเมลแล้ว กำลังพิจารณา และผลการคัดเลือก บางแห่งบางโครงการมีวันเวลาในแต่ละขั้นตอนระบุชัดเจนแต่ถ้าไม่มีการระบุไว้หรือเราติดต่อกับอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นการส่วนตัว เป็นเรื่องปกติถ้าเราจะไม่ได้รับการตอบกลับครับ นี่คือรูปแบบหนึ่งของการปฏิเสธไม่รับ แรกๆ เราอาจจะยังมีความหวังว่าสักวันเขาจะตอบกลับมาและรู้สึกโหวงเหวงอ้างว้างกับการเมินเฉยแบบนี้ แต่พอได้เจ็บบ่อยๆ เราก็จะค่อยๆ ชินไปเองครับ เชื่อผม ทั้งนี้ ควรดูระยะเวลารับสมัครด้วย เพราะถ้ายังไม่ถึงเวลาปิดรับสมัครหรือคัดเลือกก็ย่อมจะไม่มีเมลใดๆถึงเราเป็นธรรมดา และถ้าหากเราต้องการจะติดตามผลหรือขั้นตอนความเป็นไปจริงๆ เราสามารถส่งเมลไปสอบถามได้ (follow up e-mail) แต่ควรเว้นระยะเวลาหลังจากส่งเมลสมัครไปอย่างน้อยสองสัปดาห์ อย่างที่เคยบอกไว้ข้างบนว่าบางทีเค้าก็ไม่ได้อ่านจดหมายสมัครอันแรก การส่งเมลติดตามไปก็จะเป็นการทำให้แน่ใจว่าเขาได้อ่านและเป็นการแสดงความตั้งใจของเราด้วย โดยปกติจะมีเมลตอบกลับ แต่ถ้ายังไม่มีการตอบกลับใดๆ ก็จบครับ ปาดน้ำตาแล้วเดินหน้าต่อ
3.2. การสัมภาษณ์คัดเลือก
หากเราผ่านการคัดเลือกขั้นแรกแล้ว เราจะได้เราเมลบอกรายละเอียดการคัดเลือกในขั้นต่อไป ซึ่งก็คือการสัมภาษณ์ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยโปรแกรมยอดนิยมที่ใช้คือ Skype นี่แหละครับ บางครั้งบางทีจะเป็นการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวและบางครั้งก็อาจเป็นการสัมภาษณ์แบบรุม มากสุดที่ผมเคยเจอคือสี่รุมหนึ่ง เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม หายใจเข้าลึกๆ อย่าไปเกร็ง ส่วนใหญ่จะเป็นเหมือนการพูดคุยกันคร่าวๆ เรื่องทั่วไป และเกี่ยวกับคุณสมบัติและประสบการณ์ของเรา แต่ก็อาจจะมีบ้างที่ให้เราเตรียมสไลด์ไปนำเสนอ มีข้อสอบมาให้เราทำ หรือแม้แต่คำขอคำถามบางอย่างที่ไม่คาดคิด เช่น Surprise us, What is your favourite author?, How about the paper you have read recently? เป็นต้น ทางที่ดีหากได้เข้าสัมภาษณ์ก็ควรทำการบ้านเกี่ยวกับงานที่เกี่ยวข้องในกลุ่มวิจัย ผลงานวิชาการของกลุ่ม และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปูมหลัง ภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศของประเทศนั้นๆ ด้วย แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ไม่สำคัญเข้าความเป็นตัวของคุณเอง อย่าพยายามจนลืมความเป็นตัวเองเด็ดขาด และหากมีลางสังหรณ์ว่าจะไปกับอาจารย์คนนี้ไม่รอดก็ขอให้เชื่อหัวใจตัวเอง แทบจะหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นของความระทมในช่วงชั้นบัณฑิตศึกษามาจากความเข้ากันไม่ได้ของนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา หากการพบกันครั้งสองครั้งนำพามาซึ่งความระคายเคืองทางจิตใจก็ยอมปล่อยมันไปดีกว่า และหากไม่ผ่านการคัดเลือกตั้งแต่แรกหรือตกสัมภาษณ์บ่อยเข้า (ส่วนตัวผมสอบตกทั้งหมด 5 ครั้งถ้วน) ก็อย่าเพิ่งหมดศรัทธาในตัวเองครับ อย่าเพิ่งท้อกับความผิดหวังที่เราแทบไม่ได้ลงทุนอะไรเลย ทั้งหมดทั้งมวลคือประสบการณ์ครับ อย่างที่นิทเช่เคยกล่าวไว้ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “What does not kill you makes you stronger” ขอให้ทุกคนสมบูรณ์ด้วยความหวังและพลังใจครับ โชคดี
……….
ส่วนแถม เตรียมตัวสอบภาษาอังกฤษ
เกือบทุกที่ในการสมัครจำเป็นต้องมีผลสอบภาษาอังกฤษผ่านเกณฑ์ตามที่ระบุ ซึ่งถ้าเป็น IELTS ก็เฉลี่ยที่ 6.0 และในบางสถาบันก็มีการกำหนดคะแนนในแต่ละทักษะด้วย ทางที่ดีควรจะเตรียมตัวสอบไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จากประสบการณ์ของผมที่เคยสอบ IELTS มา แม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและคะแนนดีเด่อะไรแต่จะขอแนะนำตามทักษะดังนี้
อ่าน – ข้อสอบจะแบ่งเป็นสามส่วน สองส่วนแรกจะใช้คำตอบที่มีอยู่ในบทความที่เราต้องอ่าน ย้ำว่าคำตอบแทบทุกข้อจะใช้คำที่มีอยู่ในบทความอยู่แล้ว หากต้องมาคิดหาคำอื่นขอให้พึงสังวรไว้เลยว่ามาผิดทาง ถ้าเป็นคนอ่านช้าไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด มองหาคีย์เวิร์ดหรือประโยคสำคัญจากคำถามแล้วสแกนดูเป็นจุดๆ ไปจะช่วยประหยัดเวลาไปได้เยอะ ส่วนสุดท้ายควรจะอ่านบทความทั้งหมดให้เข้าใจเพราะจำเป็นในการตอบคำถาม ส่วนคำถามที่เป็นแบบ Yes/No/Not Given ให้ระลึกไว้เสมอว่าถ้า Yes คือมีข้อมูลให้โดยตรงไม่ต้องอนุมานหรือหาความสัมพันธ์เพิ่ม No คือข้อมูลมักจะตรงกันข้ามกับที่มีให้ ส่วนที่เหลือคือ Not Given แม้ว่าจะใกล้เคียงหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกับ Yes หรือ No แค่ไหน ถ้าบทความไม่ได้ระบุไว้โดยตรงและเราต้องมาอนุมานเพิ่ม นี่คือ Not Given เพื่อความคุ้นเคยให้หมั่นทำข้อสอบเก่าเข้าไว้อย่างน้อยสักสิบยี่สิบชุด เราจะเริ่มจับจุดออกว่าลักษณะเฉพาะของแต่ละส่วนเป็นอย่างไร
ฟัง – ส่วนใหญ่คำตอบที่อยู่ในบทสนทนาจะเรียงตามลำดับ ถ้าพลาดตรงไหนก็ปล่อยไปเลยไม่ต้องตื่นตระหนก สนใจที่ข้อมูลที่กำลังมาถึง ใช้เวลาที่ให้อ่านคำถามตอนแรกจับคีย์เวิร์ดไว้ หากสติหลุดไปช่วงนึงจะได้มีหลักหมุดเพื่อกลับมาได้ ในพาร์ทหลังๆบางครั้งได้ยินตัวเลขหรือคำหลักออกมาก็อย่าเพิ่งทึกทักเอาไปตอบเลย เพราะบ่อยครั้งมันคือการสับขาหลอก ให้ดูบริบทอื่นๆประกอบด้วย เหมือนเดิมครับ ทำข้อสอบเก่าบ่อยๆเข้าไว้ เราจะได้คุ้นเคยกับรูปแบบ ตัวช่วยอีกอย่างคือการดูหนังฟังเพลงดูซีรีย์ที่มาจากฝั่งอังกฤษและเปิดซับอังกฤษอ่านไปด้วย
เขียน – จะมีสองส่วนคือการบรรยายรูปภาพ กราฟ หรือแผนที่ กับการเขียนแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นอะไรบางอย่าง ควรฝึกแบ่งเวลาให้ชัดเจนว่าเราจะใช้เวลากับส่วนไหนเท่าไหร่ เช่นว่าจะใช้เวลากับส่วนแรกไม่เกินสิบนาทีก็ต้องฝึกตามนี้ เขียนให้มากเข้าไว้และไม่ควรใช้เวลาคิดเยอะ หัดใช้คำคุณศัพท์และกริยาวิเศษณ์กลุ่มที่ใช้บรรยายลักษณะความเคลื่อนไหวให้ถนัดมือไว้จะช่วยลดเวลาคิดไปได้มาก ส่วนแบบทดสอบที่เป็นการเขียนแสดงความคิดเห็นให้เลือกเลยว่าเห็นด้วยหรือไม่ แล้วเขียนบรรยายไปตามนั้น ไม่ต้องลังเลเพราะไม่มีคะแนนให้ว่าคุณเลือกได้ดีไหม การทดสอบแค่ดูว่าคุณเขียนได้ดีแค่ไหน เพราะฉะนั้นการมโนว่าเราเป็นพวกสุดโต่งในชุดความคิดฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็อาจจะช่วยให้นึกอะไรมาเขียนได้ดีกว่าเก้ๆกังๆอยู่ตรงกลาง พยายามใช้คำแปลกๆ ใช้ส่วนขยายจากคำคุณศัพท์และคำวิเศษณ์ให้มากเข้าไว้ แม้ว่าคุณจะเป็นคนชอบเขียนแบบสั้นๆ กระชับ ไม่เยิ่นเย้อแค่ไหน แต่ในเมื่อมันเป็นแบบทดสอบ คุณควรจะเขียนในแบบที่เค้าต้องการคือน้ำเยอะๆ เนื้อไม่ค่อยมีก็ได้ แนะนำให้ไปหาคำตอบจากข้อสอบชุดเก่ามาอ่านเยอะๆแล้วเก็บเอาคำและประโยคเด็ดๆไว้ใช้ในรูปแบบของเราเอง ที่สำคัญคือต้องฝึกเขียนบ่อยๆ เพราะแม้เราจะสามารถเขียนได้ดีอยู่แล้ว แต่การเขียนในเวลาจำกัดจเป็นต้องอาศัยการฝึกฝน
พูด – ความต่อเนื่อง ประเด็นและคำศัพท์สำคัญกว่าสำเนียง อย่าไปกังวลกับความสมบูรณ์แบบในการออกเสียงมากนัก ฝึกพูดให้ยาวและต่อขยายความคิดให้เยอะๆจะทำให้เราไม่เกร็งจนเกินไป ลองดูข้อสอบเก่าแล้วร่างสคริปต์และพูดจนไม่ต้องอาศัยสคริปต์ เช่นเดียวกับการเขียนแหละครับ เอาน้ำให้เยอะเข้าไว้ เนื้อเอานิดหน่อยพอ ถ้าคิดอะไรออกได้แล้วจะพูดได้ยาวก็ลุยเลยไม่ต้องสนตรรกะความถูกผิดและไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริง การโม้เอาอย่างที่ใจคิดอาจจะทำให้พูดได้คล่องปากกว่า ทำใจไว้เลยว่าจะเจอกับเรื่องไม่ถนัด จงลากคอมันให้เข้าสู่เรื่องที่เราถนัดให้ได้ครับ
ตำรับตำราผมใช้เล่มนี้เป็นหลักครับ The Official Cambridge Guide to IELTS แล้วก็ข้อสอบจาก Official IELTS Practice Materials 1-2 ที่เหลือก็เป็นข้อสอบเก่าและเฉลยที่พอจะหาได้ตามอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงคำตอบพาร์ทเขียน สคริปต์พูด และวิดีโอการพูดคุยของคนที่สอบได้คะแนนเยอะๆในอดีต ซึ่งเชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถในการสืบค้น ย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นความเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นไปตามนี้ทั้งหมด ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับความพยายามของเราเองนั่นแหละครับ ขอให้ทุกคนสมหวังดังที่ตั้งใจครับ
Cr. มิตรสหายโปแลนด์ทั่นนึง