ข้าราชการ ไม่มีศัพท์ตรงๆในภาษาอังกฤษ แต่ถ้าจะเทียบเคียงตาม functions ก็น่าจะใช้ว่า Civil servant หรือ functions ของข้าราชการก็คือ Civil services คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (Office of the Civil Service Commission) ก็ใช้คำนี้ ซึ่งผมก็เห็นด้วย แปลง่ายๆ ตรงๆ ก็คือ “‘งานบริการประชาชน” นั่นเอง ไม่มีอะไรซับซ้อน หรืออาจจะมีนัยยะซ่อนอยู่ว่า “ประชาชน” คือ “ราชา”(ฮา) แต่จากประสบการณ์…
ข้าราชการไทยไม่ได้ทำงานให้บริการประชาชน เหมือนเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ข้าราชการไทยมักมองว่าตัวเองทำงานให้กับรัฐ ซึ่งรัฐไทยมองตัวเองว่าเป็นผู้ปกครอง ประชาชนเป็นคนใต้ปกครอง (ทัศนคติแบบตู่ จันฯ ชัดเจนมากบนมายาคติแบบนี้) รัฐไทยมุ่งเน้นปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ มองเห็นประชาชนเป็นภาระ สร้างปัญหาให้ผู้ปกครองต้องแก้ไข ไม่ได้คิดที่จะจัดสรรทรัพยากรให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม จัดสรรงบประมาณเท่าที่มี และแน่นอนจัดสรรให้กับชนชั้นปกครองและเครือข่ายที่สนับสนุนก่อน ที่เหลือค่อยปันส่วนให้ประชาชน และมองว่าการปันส่วนทรัพยากรให้กับประชาชนเป็นบุญคุณที่ประชาชนจะต้องสำนึก
รัฐข้าราชการไทยเป็นระบบราชการแบบรวมศูนย์ ใช้อำนาจนิยมผ่านระเบียบราชการใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารราชการ มีโครงสร้างบังคับบัญชาแบบบนลงล่าง มีลักษณะแบบ Duality คือ ผู้บังคับบัญชาระดับบนได้ประโยชน์จากโครงสร้างระบบแบบนี้ ส่วนระดับปฏิบัติการจะโดนอำนาจนิยมกดทับ และจะได้รับรางวัลหากสามารถตอบสนองคำสั่งผู้บังคับบัญชาได้ ในทางกลับกันหากไปปฏิบัติผู้บังคับบัญชาก็จะถูกเลือกปฏิบัติ ผู้บังคับบัญชาที่มีเส้นสายมีอำนาจเต็มในการให้ผลประโยชน์กับผู้ใต้บังคับบัญชา (เห็นได้อย่างชัดเจนในหน่วยงานด้านการทหาร ตำรวจ และปกครอง) ดังนั้น ระบบแบบนี้ทำให้ข้าราชการระดับล่างให้ความสำคัญกับ “งานบริการประชาชน” ไม่ใช่ภาระกิจหลัก ไม่มีความเห็นอกเห็นใจประชาชน เพราะประชาชนไม่มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ และความก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรมแก่ข้าราชการบางท่าน ซึ่งในสมัยที่เป็นข้าราชการระดับล่างคิดว่ายอมทำตามระบบแบบนี้ไปก่อน เมื่อวันที่เติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นผู้บริหารระดับสูงจะมีความสามารถและอำนาจเพียงพอที่จะแก้ไขระบบแบบนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนาน พบว่ามันเสี่ยงเกินไปที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบ มันอาจจะมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน จึงเลือกที่จะแก้ต่างให้กับตัวเองว่าทำเท่าที่เราพอจะทำได้ก็พอ และแน่นอน ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนระบบราชการแบบนี้ได้
ระบบราชการไทยไม่มีกลไกการแก้ปัญหาที่ตอบสนองกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตามความต้องการของประชาชน เน้นการทำงานประจำ ทำงานตามตัวอักษรที่อยู่ในระเบียบหรือคำสั่งจากผู้บริหารระดับบน นิยามปัญหาของประชาชนไม่ใช่ปัญหาของรัฐราชการไทย ข้าราชการจะไม่ตอบสนองต่อปัญหาจนกว่าจะเป็นประเด็นในสื่อสาธารณะ หน่วยงานที่รับผิดชอบหากไม่มีชื่อปรากฏอยู่ในสื่อก็จะนิ่งเฉย ส่วนหน่วยงานที่ถูกกล่าวถึงในสื่อก็จะลุกลี้ลุกลนทำอะไรสักอย่างให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐทำแล้วนะไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้ว่ามันจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆก็ตาม และแน่นอนใช้งบประมาณของรัฐแบบไม่มีประสิทธิภาพ หัวหน้าหน่วยงานจะสั่งการให้ระดับปฏิบัติการทำตามสั่งให้ได้ และเมื่อทำแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ ก็จะแก้ต่างกำลังดำเนินการอยู่ การแก้ปัญหาต้องใช้เวลา ทุกฝ่ายกำลังเร่งมือ ขอให้ประชาชน’มั่นใจ’ รัฐ ‘เชื่อ’ ว่าปัญหาจะคลี่คลายในเร็ววัน ซึ่งเหตุการณ์นั้นไม่เคยมีอยู่จริง หรือในกรณีที่ปัญหาซ้ำซากตามฤดูกาลหรือรอบเวลา ปัญหามันจะคลี่คลายด้วยตัวมันเองตามช่วงเวลา (อาทิเช่น pm2.5 น้ำท่วม น้ำประปาเค็ม น้ำแล้ง ไฟป่า) ทุกๆรอบก็จะใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิม พอพ้นช่วงเวลาปัญหาจะคลี่คลายด้วยตัวมันเอง ก็จะอ้างความสำเร็จ แต่ปัญหาจะวนกับมาตามรอบเวลา
ระบบราชการแบบไทยไทย ปกป้องความผิดที่กระทำโดยรัฐ เมื่อยามที่มีการร้องเรียนตามกระบวนการที่รัฐออกแบบไว้ เป็น ‘ระบบร้องขอ’ ประขาชนต้องร้องเรียนไปตามช่องทางที่รัฐกำหนดไว้ ซึ่งล้าหลัง ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่โปร่งใส ตรวจไม่ได้ เรื่องร้องเรียนจะอยู่ในระบบอย่างเงียบๆ จนกว่าเรื่องจะเปิดเผยถึงสาธารณะ ผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทจะออกรีบออกมาแก้ต่างกับสื่อว่ากำลังดำเนินการอยู่ และจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ในเมื่อเวลาผ่านไปการตรวจสอบจะไม่พบความผิด ทั้งที่มองจากดาวพลูโตยังมองเห็นว่ามันผิดและไม่ใช่เรื่องปกติ (ตัวอย่างเช่น ตรวจสอบแล้วไม่พบการค้าประเวณีที่พัทยา ไม่มีการค้าประเวณีในสถานอาบอบนวด ไม่พบรถเมล์ควันดำเกินมาตรฐาน ทั้งๆที่ทุกคนเห็นอยู่ว่าดำกว่าหลุมดำละ ไม่พบการขายล๊อตเตอรี่เกินราคา มันคือแป้ง คลองโอ่งอ่างสวยมาก เป็นต้น) ส่วนผู้ร้องเรียนหากอยู่ในหน่วยงานราชการมีความเสี่ยงที่จะได้รับโทษจากผู้บังคับบัญชาที่มักจากอ้างอย่าง Non-sense ว่าทำให้หน่วยงานได้รับความเสื่อมเสีย ประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ยังไม่ได้นับรวมถึงความฉ้อฉล และการใช้อำนาจโดยมิชอบที่กระทำโดยข้าราชการซะด้วยซ้ำไป
ระบบราชการไทย ใช้งบประมาณกว่า 70%ของงบประมาณประจำปี รักษาผลประโยชน์ของกลุ่มคนไม่เกินแสนคนและใช้จ่ายไปกับคนที่อยู่ในระบบราชการอีกประมาณ 1 ล้าน 2 แสนคนโดยประมาณ ซึ่งมันแทบไม่สร้างประโยชน์อะไรกับประชาชนอีก 68 ล้านคนเลย
คำถามพื้นๆแต่สำคัญมาก เราจะยังนิ่งเฉยให้รัฐราชการแบบไทยให้กดขี่เราอีกหรือ เราจะยังมองเห็นอนาคตจากระบบแบบนี้อีกหรือ
คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้วครับ คำตอบมันอยู่ในสายลม