
THAI EUDEM ขอแสดงจุดยืน
ไม่เห็นด้วยและไม่อาจยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลง วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เหตุเพราะละเมิดหลักการประชาธิปไตยสากล อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ ๑,๒,๓
.
.
ปฏิรูป ไม่เท่ากับ ล้มล้าง !
.
วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ ซึ่งมีนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้ปราศรัย เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า “พฤติกรรมและเหตุการณ์ต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ ๑, ๒, ๓ มีเจตนามุ่งเน้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป” และ “… การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะเกินควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขในที่สุด”
.
ด้วยความเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการใช้เสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเมื่อพิจารณาจากข้อเสนอทั้ง ๑๐ ข้อแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่สามารถปฏิรูปได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเสนอปฏิรูปบางข้อยังสามารถปฏิบัติได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว ถึงแม้ข้อเสนอบางข้อจะอยู่ในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่รัฐธรรมนูญเองก็เปิดช่องให้แก้ไขได้โดยผ่านการทำประชามติก่อน
.
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของประมุขของรัฐ ในปัจจุบัน เมื่อเป็นที่ยอมรับกันอย่างสากลว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจร่วมกันว่าจะอยู่ร่วมกันภายใต้ธงผืนแผ่นเดียวกันอย่างไร ภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด กล่าวคือ จะต้องไม่ “มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนรูปแบบรัฐ” ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็เช่นกัน อำนาจที่แท้จริงนั้นเป็นของประชาชน อำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ยังคงอยู่ไว้ย่อมเป็นเพียงอำนาจในทางประเพณีหรือในทางแบบพิธีเท่านั้น ข้อเสนอ ๑๐ ข้อ นอกจากจะไม่ใช่การล้มล้างการปกครองแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย
.
ตัวอย่างเช่น ข้อเสนอข้อที่ ๑๐ ที่ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์เองจากปัญหาข้อครหาทางการเมือง เนื่องจากเป็นที่ยอมรับการในทางสากลว่าการรัฐประหารเป็นการทำลายประชาธิปไตย การที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธการรัฐประหารใด ๆ ย่อมเป็นสิ่งที่พระองค์สามารถกระทำได้ และพึงกระทำในฐานะประมุขของรัฐที่มีหน้าที่ต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
.
ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้น กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นักเรียนไทยในยุโรป THAI EUDEM ไม่เห็นด้วย และไม่อาจยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นการตีความกฎหมายที่ล้าหลัง และมีแต่จะเป็นการบั่นทอนค่านิยมประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
.
นักปรัชญาโบราณ Héraclite d’Ephèse กล่าวไว้ว่า “Rien n’est permanent, sauf le changement” แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ไม่มีอะไรแน่นอน ยกเว้นการเปลี่ยนแปลง” ถ้าเราต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่รอดในบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องทำการปฏิรูปสถาบันฯ เพื่อให้มีความทันสมัยเหมือนอย่างในอารยประเทศ
.
https://www.bbc.com/thai/thailand-59217832
https://www.ilaw.or.th/node/5779
เครดิตภาพ https://plus.thairath.co.th/topic/speak/100689…