กะลาไทยไปทั่วโลก

คนไทยหลายๆ คน ทั้งที่ไทย และต่างประเทศคงสังสัยเหมือนกับฉันว่า ทำไมคนไทยที่มาอาศัย มาทำงานในประเทศที่เรียกว่าเป็นประเทศโลกที่หนึ่งหลายๆ ประเทศทั่วโลก หรือประเทศที่มีความเป็นรัฐสวัสดิการสุดลิ่มทิ่มประตูอย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย แต่คนไทยเหล่านี้กลับยังคงมีความเป็นสลิ่ม ราวกับว่าเกิดที่ไทยมีกะลาครอบหัวใบใด กะลาใบนั้นยังคงหนาครอบหัวเหมือนเดิมแม้จะอยู่ต่างประเทศหลายทศวรรษก็ตาม ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน รัฐสวัสดิการในต่างประเทศที่ตัวเองอยู่ ไม่สามารถเจาะเข้าไปในกะลาของคนเหล่านี้ได้ และไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบประเทศที่ตัวเองอยู่ ด้วยเหตุผลต่างๆ
.
คนเหล่านี้บางคน คือผู้ได้ผลประโยชน์โดยตรงจากรัฐไทย หรือต้องใช้ connection จากรัฐไทยเพื่อเอื้อธุรกิจตัวเองในต่างประเทศ อันนี้คงไม่ใช่เรื่องของกะลาบนหัวกะบาลล้วนๆ แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ด้วย คนเหล่านี้ก็คือเจ้าของธุรกิจต่างๆ สมาคมคนไทยหลายๆ สมาคมในต่างประเทศ คนเหล่านี้จะไม่เอากิจการและสมาคมของตัวเองมาแปดเปื้อนกับการเมือง และก็ชอบพร่ำบอกว่า พวกเราเป็นกลาง แต่ย้อนกลับไป 7 ปีที่แล้ว คนเหล่านี้ก็คือคนที่ออกมาเป่านกหวีดไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คนเหล่านี้คือสลิ่มประเภทถ้ารัฐบาลเป็นเผด็จการจะหาทางสูบเงินมาให้มากที่สุดโดยไม่สนว่าเผด็จการจะทำร้ายประชาชนอย่างไร แต่เมื่อใดที่ไทยเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง หากรัฐบาลนั้นทำอะไรไม่ถูกใจตัวเองก็พร้อมจะออกมาแผดเสียง ร่วมมือกันไล่รัฐบาลนั้น
.
อีกกลุ่มก้อนหนึ่งที่ฉันเรียกว่า maintain ความเป็นสลิ่มในต่างแดน คือ วัดไทย (บางวัด) และโรงเรียนไทยต่างๆ ในต่างแดน ทั้งสองได้ใช้ศีลธรรม และวัฒนธรรมไทยเพื่อปลูกฝังให้เด็กไทยในต่างแดนเริ่มสร้างกะลาครอบหัว และช่วยทำให้กะลาบนหัวของคนไทยในต่างแดนยังคงหนาอยู่ ซึ่งวิธีนี้ก็คือวิธีเดียวกันกับในไทย ที่ใช้เรื่องของศีลธรรม ความดี และการศึกษาในการปลูกฝังความเป็นสลิ่มให้นักเรียนที่ไทย สลิ่มไทยในต่างแดนไม่ว่าจะอยู่ต่างประเทศกี่ปีต่อกี่ปีก็ตามก็ยังคงเชื่อในศักดินา เชื่อในบารมี เชื่อในผู้มีบุญญาธิการ เชื่อว่าคนดีเท่านั้นที่สมควรปกครอง ที่น่าตลกคือ ใช้ความเชื่อนี้กับประเทศไทยเท่านั้นนะ ไม่ใช้กับประเทศที่ตัวเองอยู่ พอเป็นประเทศที่ตนอยู่ก็พร้อมเข้าใจในเรื่องการเลือกตั้ง ความโปร่งใส การตรวจสอบได้จากประชาชน
.
นักเรียนไทยในต่างประเทศ กลุ่มนี้มีทั้งที่น่าเห็นใจและน่ารังเกียจ กลุ่มที่น่าเห็นใจคือนักเรียนสัญญาทาสรัฐไทย (ทุนไทย) ที่มาเปิดกะลาในต่างประเทศ แต่ด้วยสัญญาทาสที่มี จึงต้องกลับไปถูกล่ามโซ่ที่ไทย ไม่ได้ใช้ความรู้ที่ตัวเองเรียนมาอย่างเต็มที่ และต้องอยู่ภายใต้ระบบงานที่กลายเป็นแค่กลไลหนึ่งที่ช่วยดำรงรักษาระบบรัฐพันลึกแบบนี้ในไทย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ นักเรียนไทยที่แบกกะลาใบใดมาก็กลับไปด้วยกะลาใบนั้น จะต่างก็แค่เปิดรูกะลาเพื่อดูดความรู้จากประเทศเจริญแล้วเข้าไป เพื่อเป็นการชุบกะลา ชุบตัว เป็นใบเบิกทางไต่เต้าในอาชีพการงาน ที่ฉันประหลาดใจมากๆ คือ คนเหล่านี้บางคนเคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ในต่างประเทศสอนเรื่องที่ก้าวหน้า รู้ไปหมด แต่พอกลับไทย มีสภาพที่ฉันขอยืมคำจาก อ.สมศักดิ์ มาใช้ คือ “สูญเปล่าทางการศึกษา” บางคนเอาความรู้ที่มีมากล้นไปสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการ บางคนคอยพ่นตรรกะเพี้ยนๆ ให้สลิ่มอื่นๆ ได้ด้อยสมองตัวเองเล่นไปวันๆ (แต่เพิ่มความหนาของกะลาบนกะบาล)
.
แม้จะอยู่ต่างแดน แต่รายการโปรดของสลิ่มต่างๆ สลิ่มต่างประเทศก็รับชมได้ ยังไม่นับที่ข้อมูลปั่นหัวให้คนไทยเกลียดกันเองจาก IO ก็ข้ามประเทศผ่านโลกออนไลน์มาถึงสลิ่มต่างแดนได้อยู่ดี ดังนั้นสลิ่มจะต่างแดน จะอยู่ในไทยก็ได้รับข้อมูลเพี้ยนๆ แบบเดียวกัน สลิ่มยังไงก็ยังคงสลิ่มแบบนั้น แม้จะเงยหน้ามาจากจอมือถือกับข้อมูล IO แล้วมาเจอความเป็นจริงว่าประเทศที่ตัวเองอยู่เจริญยังไง การเมืองดีอย่างไร รัฐบาลโปร่งใสอย่างไร ชีวิตประชาชนและชีวิตตัวเองดีแค่ไหน ก็ไม่เป็นผลใดๆ เพราะ “บ้านเราไม่เหมือนบ้านเขา” ตรรกะที่สร้างข้อยกเว้นให้สลิ่มต่างแดนใช้อธิบายว่าทำไมประเทศไทยถึงพัฒนาเท่าประเทศที่ตัวเองอยู่ปัจจุบันไม่ได้ซักที
.
เอาให้ถึงที่สุดนะ ฉันว่าสลิ่มไทยในต่างแดนที่ได้สัญชาติในต่างประเทศแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่คุณต้องมีคือคุณต้องยึดถือหลักการประชาธิปไตย การที่คุณเคยเป่านกหวีดเรียกเผด็จการมาปล้นอำนาจประชาชน และคุณก็ยังคงสนับสนุนเผด็จการนั้นอยู่ มันเกินพอที่คุณควรจะต้องโดนถอดถอนสัญชาติจากประเทศประชาธิปไตยที่คุณอยู่เสียด้วยซ้ำ
.
สลิ่มต่างประเทศก็มีสภาพเหมือนกับสลิ่มกรุงเทพนั่นแหละ สลิ่มกรุงเทพไม่อยากให้เพื่อนร่วมชาติในชนบทพัฒนาฉันใด สลิ่มต่างประเทศก็ไม่อยากให้ประเทศไทยพัฒนาฉันนั้น เพื่อวันที่ตัวเองไปเยี่ยมบ้านเกิดจะได้เห็นประเทศไทยในแบบที่เหมือนเดิม เหมือนตอนที่ตัวเองจากมา สุดท้าย สลิ่มต่างแดนก็เหมือนสลิ่มกรุงเทพที่ New York Times เคยเปรียบได้แสบสรรไว้ว่า They (สลิ่มกรุงเทพ) love their feet to be kissed แต่พวกเขาก็ชอบจูบตีนคนบางคน (New York Times ไม่ได้พูด ฉันพูดเอง)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *