ทมยันตี นักเขียนนิยายชื่อดัง ชื่อจริงวิมล เจียมเจริญเสียชีวิตแล้วเช้าวันนี้ (13 กันยายน 2564) เธอมีผลงานนับไม่ถ้วนที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย นอกเหนือจากชื่อทมยันตีแล้ว วิมลยังใช้นามปากกาอีกหลายชื่อคือโรสลาเลน กนกเรขา ลักษณวดี และมายาวดีเป็นต้น มีผลงานเขียนที่ถูกนำไปทำเป็นละครและภาพยนตร์จนมีชื่อเสียงหลายชิ้นเช่นคู่กรรม ทวิภพ ดั่งดวงหฤทัย ล่า เลือดขัตติยา พิษสวาท และใบไม้ที่ปลิดปลิว
.
สถานการณ์การเมืองโลกในยุค 1970 อยู่ในช่วงสงครามเย็น รัฐไทยซึ่งอยู่ฝั่งอเมริกาเปิดประเทศให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพ ให้ความช่วยเหลือรัฐไทยทั้งในทางการทหารและการเมืองเพื่อต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งมีอิทธิพลในลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและโซเวียต มีการดำเนินการต่อต้านรัฐไทยโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขบวนการนักศึกษาจัดการประท้วงรัฐบาลบ่อยครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2519 ทมยันตีมีบทบาททางการเมืองอย่างมากในประเทศไทยผ่านการพูดกระจายเสียงโฆษณาชวนเชื่อผ่านวิทยุยานเกราะของกองทัพไทยในฐานะแกนนำคนสำคัญของชมรมแม่บ้านภรรยาข้าราชการและนายพล เธอได้พูดสร้างความเกลียดชังต่อนักศึกษาที่ประท้วงเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาถอนฐานทัพออกจากประเทศไทย โจมตีประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้สำนวนภาษาคลั่งชาติและปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงต่อคนไทยที่ “กายเป็นไทยแต่ใจเป็นของชาติอื่น” [1] การทำโฆษณาชวนเชื่อนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศทางสังคมและการเมืองของประเทศไทยให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคมปีเดียวกันนั้นเองได้
.
หลังปี พ.ศ. 2519 วิมลได้รับการตั้งตั้งโดยคณะรัฐประหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ต่อมาได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2522 ได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา และปี พ.ศ. 2527 ได้เป็นผู้อำนวยการ ขสมก. ปี พ.ศ. 2548 ได้รับพระราชทานเครื่องราชและตำแหน่งคุณหญิง ปี พ.ศ. 2555 ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ แม้ว่าจะมีประวัติการปลุกระดมการใช้ความรุนแรง ฝักใฝ่เผด็จการทหารและคดีความในครอบครัวก็ตาม
.
ผลงานวรรณกรรมของเธอมักใช้ภาษาที่เป็นที่ถูกใจของผู้อ่าน แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกวิจารณ์ลอกเลียนแบบโครงเรื่องมาจากนักเขียนคนอื่นโดยเฉพาะนักเขียนต่างชาติซึ่งในยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตคนไทยน้อยนักที่จะรู้ได้ผลงานของเธอเหมือนกับของใคร เช่นนิยายเรื่อง พิษสวาทมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับ Ziska: The Problem of a Wicked Soul โดย Marie Corelli [2][3] นักเขียนชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ว่าภายหลังเธอจะออกมาปฏิเสธก็ตาม หรือคู่กรรม ผลงานที่ถูกสร้างเป็นทั้งภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวทีนับครั้งไม่ถ้วน เป็นงานที่ทำให้ความเกลียดกลัวญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองในประเทศไทยหายไปอย่างสิ้นเชิง แม้นิยายของเธอมักจะมีตัวละครหลักเป็นผู้หญิงที่มีบทบาทแต่ก็ยังคงปลูกฝังค่านิยมการเป็นผู้หญิงตามแนวคิดอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมตามกรอบความเชื่อทางการเมืองของเธอ ละครน้ำเน่าที่คนไทยบางคนเกลียดหนักหนาแม้ว่าจะเป็นที่นิยมในสังคมไทยมาหลายสิบปี ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่องว่าเป็นผลงานที่ไม่สร้างความเจริญให้อุตสาหกรรมบันเทิงไทยจำนวนมากก็ถูกเขียนโดยนักเขียนไทยที่มีค่านิยมอย่างทมยันตีนี่แหละ
.
ในปี พ.ศ. 2564 เราเห็นศิลปินแห่งชาติที่ออกมาร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสุชาติ สวัสดิ์ศรีถูกปลดออกจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันเราก็มีศิลปินแห่งชาติอย่างวิมล เจียมเจริญที่เสียชีวิตไปและจะถูกจดจำโดยคนรุ่นหลังในฐานะที่เป็นนักเขียน ศิลปินเลียเผด็จการทหารและมีส่วนร่วมในการปลุกปั่นให้เกิดการฆ่าหมู่เพื่อนร่วมชาติ
.
[1] คลิปเสียง https://soundcloud.com/enra-enratius-akathezia/62519a
[2] https://www.matichon.co.th/entertainment/news_234212
[3] https://thematter.co/social/how-to-plagiarise-ka-sis/6951
ส่วนหนึ่งของการปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงปรากฎในคลิปเสียงประมาณช่วง 1.27.07
“…ใครก็ตามที่อยากให้เราเลิกสัญญาต่างๆ เหล่านั้น จะรับรองเราได้สองข้อไหม
ข้อแรกคนพวกนั้น [ กลุ่มผู้ชุมนุมที่ต่อต้านการกลับมาของสามเณรถนอม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกับคอมมิวนิสต์ ] จะรับรองได้ไหมว่า เมื่อสหรัฐอเมริกาไปแล้วนั้น ประเทศทั้งสามนั้น [ ลาว เขมร ญวณ ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคอมมิวนิสต์ ] จะเจรจากับเราได้ดี จะเจรจากับเราโดยยึดหลักแห่ง อิสรภาพ [ เสียงไม่ชัด ] ไม่ข่มขู่เรา ด้วยอำนาจทางทหารที่เขาเหนือกว่าเรา
ข้อที่สอง จะรับรองได้ไหมว่าประเทศทั้งสามนั้น จะไม่รุกล้ำเขตแดนเรา จะไม่คุกคามเสรีภาพเรา
ใครก็ตามที่รับรองได้ทั้งสองข้อนี้ ขอให้เซ็นสัญญามา ขอให้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
ขอให้ประกาศต่อประชาชนคนไทยให้รู้โดยทั่วถึงกัน ว่าถ้าเมื่อใดก็ตาม ประเทศไทยถูกรุกล้ำเขตแดน คนไทยจะได้ตัดหัวที่ทำรับรองนั้น เซ่นธงชัยเฉลิมพล…”