อุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นในประเทศไทยทุกวัน วันละเป็นพัน ๆ เคส ตายวันละหลายสิบ บาดเจ็บก็หลักร้อย มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในยุโรปไปหลายเท่าตัว ยิ่งช่วงเทศกาลรัฐแบบไทยไทยถึงกับต้องตั้งเป้าจำนวนคนตายกันเลยทีเดียว
ผ่านมาหลายสิบปี ปัญหานี้ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขสักที ถ้าลองไปอ่านงานวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนของรัฐดูก็จะพบว่า สาเหตุหลักๆของอุบัติเหตุทางถนนของไทย จะไม่เกินไปกว่าความไร้วินัยของประชาชนกันเอง เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ประมาท ส่วนวิธีการแก้ปัญหาก็บังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัดกับประชาชน ดูราวว่าความตายจากอุบัติเหตุ.. การเสี่ยงภัยบนท้องถนนจะเป็นเรื่องธรรมดาของการบริหารจัดการรัฐแบบไทยไทย
จริงๆแล้ว อุบัติเหตุลักษณะเดียวกับหมอกระต่าย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวันในประเทศไทย แต่อาจจะไม่เป็นข่าวดัง และอีกไม่กี่วันข่าวก็จางหาย ในขณะที่ชาวบ้านก็ยังต้องใช้ชีวิตเสี่ยงๆแบบนี้ต่อไป โดยที่รัฐไม่สามารถคุ้มครองชีวิตประชาชนได้จริงตามที่ระบุไว้ใน ‘รัฐธรรมนูญ’
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นเพียง “อาการ” ของปัญหาเชิงโครงสร้างของระบอบการปกครองแบบไทยไทย ที่ผู้กุมอำนาจรัฐไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนธรรมดา แต่เป็นตัวแทนของชนชั้นนำและเครือข่าย รัฐจัดสรรทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยไปคุ้มครองชีวิตให้กับพวกเค้าเหล่านั้นก่อน มีรถประจำตำแหน่ง มีรถนำขบวน มีการอารักขาอย่างแน่นหนา ปิดถนนเพื่อการันตีได้ว่าจะไม่มีสิ่งใดขวางการเดินทางของพวกท่านๆได้แน่นอน
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึง ชนชั้นสูงอย่าง ‘เจ้า’ กลุ่มเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงบริวารและพวกพ้อง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง นายทหาร นายตำรวจระดับสูง ผู้มีอิทธิพล นายทุน คนร่ำรวยทั้งหลายที่สามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้ คนกลุ่มนี้จะได้อภิสิทธ์ิในการรับบริการของรัฐที่แตกต่างจากประชาชนทั่วไป พวกท่านๆเหล่านี้อาศัยอยู่คนละจักรวาลกับเราๆ ใช้กฏหมายคนละแบบกับคนทั่วๆไป หากเกิดปัญหาขึ้น พวกท่านๆก็พร้อมที่จะโทษประชาชนอย่างเราๆ ว่า “ไม่มีวินัย” “ไม่เคารพกฏจราจร” “ไม่ยอมใช้ระบบขนส่งสาธารณะ” ที่พวกท่านๆอุตสาห์จัดงบประมาณมาสร้างให้ มัวแต่คอยเรียกร้องจากรัฐให้ดูแล ไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเอง ไม่รู้จักพอเพียง
ด้วยโครงสร้างอำนาจของรัฐแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้อาการของปัญหาแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมดาสามัญ เพราะไม่ใช่ปัญหาของผู้กุมอำนาจรัฐ “มันคือปัญหาของพวกมีง ไม่ใช่ปัญหากู”
ย้อนกลับมาดูเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มันเป็นผลผลิตจากโครงสร้างบริหารจัดการรัฐแบบไทยไทยเช่นกัน รัฐจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทมีหน้าที่ตัดถนน งบประมาณมีไว้เพื่อตัดถนน
“ถนนมีไว้ให้รถวิ่ง ก็ออกแบบให้รถวิ่ง”
ไม่แคร์การสัญจรของผู้คน รถติดก็ขยายถนน ติดตรงแยกก็ทำสะพานข้ามแยก คนจะข้ามถนนก็ทำสะพานลอย
“ไม่สนใจลำดับศักดิ์ของถนน ไม่สนใจว่า ‘เมือง’ จะเป็นยังไง มีทัศนอุจาดแค่ไหน”
กรมมีหน้าที่ตัดถนนก็ตัดถนนกันไป มิหนำซ้ำ ข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานราชการแบบไทยยังยึนยันอย่างภูมิใจว่าได้สร้างถนนที่ได้มาตราฐานทางวิศวกรรมไม่แพ้ชาติใดในโลก ไม่แคร์ว่าเมื่อถนนไปอยู่ในระบบเมืองแล้วมันจะฉิบหายแค่ไหน และยืนยันที่จะร่ำรวยต่อไปจากการสร้างถนน พร้อมกับโทษประชาชนว่าขาดวินัยจราจรกันเอง ไม่เกี่ยวกับกู
ถนนเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของเมืองเท่านั้น ถนนในระบบจราจรเมืองมีรูปแบบการใช้งานและการออกแบบก็แตกต่างกันไป ขึ้นกับปัจจัยหลัก ๆ คือความเร็วในการเคลื่อนที่ และความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ข้างทาง ถ้าจะให้รถวิ่งเร็วๆ ความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ข้างทางก็จะต่ำ เช่น highway ก็จะเป็นถนนระหว่างเมือง ถนนเป็นระบบปิด มีการกำหนดจุดรถวิ่งเข้าออกในทางกลับกันถ้าจะให้ความสามารถในการเข้าถึงสูงๆ รถก็ต้องวิ่งช้าๆ หรือไม่อนุญาตให้รถวิ่ง เช่น ถนนในเมือง เขตชุมชน เขตการค้า เป็นต้น
ส่วนการออกแบบถนนในกรุงเทพนั้น ทุกๆ ที่คือ highways รถต้องวิ่งเร็วไหลอย่างต่อเนื่อง ห้ามติดขัด เราจึงเห็นถนน 10-12 เลน 2 ชั้น อย่างวิภาวดี ซึ่งควรจะเป็น highway ระบบปิด แต่กลับผาดกลาง กทม. ถนนวงแหวนในอย่างรัชดาภิเษกซึ่งควรอยู่ชานเมือง เป็นเสมือนขอบเขตเมืองกลับอยู่ผ่ากลางกทม.
“ถนนเส้นหลักๆ ใน กทม.ก็ไม่ได้ออกแบบมาให้กับคนเมืองสัญจร”
ในขณะเดียวกับรถไฟฟ้าที่ควรจะตัดผ่านชุมชน เพิ่มพื้นที่ให้บริการให้กับชุมชน กลับสร้างไปขนานไปกับถนนวงแหวนรัชดาภิเษกซึ่งเป็นเสมือนขอบเขตเมือง บางสายก็ยกตัวขนานบนถนนเส้นหลักบ้าง ถนนระหว่างเมืองบ้าง ซึ่งทำให้ยากต่อการเข้าถึงของผู้ใช้บริการ ด้วยการออกแบบที่ไม่เป็นไปตามหลักการระบบขนส่งของเมืองแบบนี้ แม้ว่าประชาชนจะเฝ้าระแวดระวังแค่ไหน มีวินัยมากแค่ไหน อยากจะใช้รถสาธารณะแค่ไหน ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทก็ยังคงสูงอยู่มาก และหากกลไกการจัดสรรงบประมาณของรัฐยังเป็นแบบนี้อยู่ รูปแบบการใช้งบประมาณไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมมันก็ยังคงเหมือนเดิม การใช้งบประมาณก็รังแต่จะสร้างปัญหาเพิ่ม ปัญหาเก่าก็ไม่ได้แก้ไข ปัญหาใหม่ก็ยังเพิ่มเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ
แต่ที่สาหัสไปกว่านั้น คือ ระบบยุติธรรมที่ไม่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายได้ ระบบยุติธรรมที่ไม่ได้ออกแบบมาคุ้มครองประชาชน ระบบยุติธรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ สร้างภาระต้นทุนที่สูงให้ทั้งกับรัฐและประชาชน ล่าช้า เนิ่นนานและไม่แน่นอน ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะได้รับความยุติธรรม
ลองจินตนาการดูว่าต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปี กว่าคดีจะสิ้นสุด ภาระค่าใช้จ่าย และเวลาที่ต้องใช้ไปกับคดีความทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิด เมื่อคดีอาญาสิ้นสุดก็ต้องไปร้องทางแพ่ง ถ้าผู้กระทำผิดไม่สามารถจ่ายค่าเสียหายได้ หรือจ่ายค่าเสียหายได้ก็ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่สูญเสียไป ในกรณีของผู้กระทำผิดที่ร่ำรวย มีอิทธิพลและสามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้
“ความไม่แน่นอนมันเกิดขึ้นกับผู้เสียหายอยู่ตลอดเวลา” (เช่น กรณีแพรวากับรถตู้ กรณีบอส กระทิงแดง) สุดท้ายผู้เสียหายอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และยุ่งยากเกินไปที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม
ทั้งนี้มันก็เป็นไปตามปรัชญาของรัฐมาเฟียที่ “มันไม่เคยเอื้อให้คนปกติเรียกร้องหาความเป็นธรรมได้อยู่แล้ว”…
การมีชีวิตอย่างปกติธรรมดาของชาวบ้านธรรมดา มันเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเกินไปในรัฐมาเฟีย