
บทความนี้เขียนปลายเดือนมีนาคม 2021 ก่อนการระบาดรอบที่สามในไทย
กว่า 1 ปีแล้ว ที่โลกเราอยู่ในภาวะระบาดของเชื้อไวรัส Sars-CoV-2 ซึ่งก่อโรค Covid-19 เดนมาร์กเริ่มมีโควิด-19 เคสแรกปลายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สองอาทิตย์ต่อมาเดนมาร์กไม่รอช้า ตัดสินใจ lockdown เหตุผลหลักที่ต้อง lockdown คือ เพื่อ lower down the curve หรือ ทำให้กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อไม่พุ่งสูงเกินไป เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะรับได้ หันกลับมามองที่ประเทศไทย โควิดนอกประเทศจีนเคสแรกปรากฏที่ไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 สิ่งที่รัฐไทยตอบสนองคือ การแห่สิงโตตุงแช่ไปรับนักท่องเที่ยวจีนเพื่อเทศกาลตรุษจีนในไทย ยังไม่นับที่ไม่ตัดสินใจปิดสนามมวยที่กรุงเทพทั้งๆ ผู้เชี่ยวชาญก็เตือนแล้วว่าไม่ควรจัด จึงทำให้เกิด super spreader หลังจากนั้นรัฐไทยก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมีนาคมและทำการปิดพรมแดน โดยผู้ใดที่เข้ามาต้องทำ state quarantine เป็นเวลา 14 วัน ปัจจุบันสถานการณ์ฉุกเฉินก็ยังคงอยู่ และการกักตัวก็ยังคงอยู่แม้จะผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว (ในขณะนี้กำลังพิจารณาลดจำนวนวันกักตัว และเริ่มไม่มีการกักตัวในจังหวัดท่องเที่ยว) คนไทยในเดนมาร์กจำนวนมากไม่ได้กลับไปเยี่ยมประเทศไทยมากกว่า 1 ปีแล้ว เพราะการกักตัวแบบนี้ที่ไทย
เดนมาร์กแม้จะอยู่ในภาวะ lockdown อย่างไร คนเดนมาร์กและคนต่างชาติที่มีวีซ่าก็สามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมี state quarantine แต่อาจจะมีการกักตัวที่บ้าน ซึ่งการ lockdown ก็ต้องมาพร้อมกับการทำงานและเรียนจากที่บ้าน ซึ่งในส่วนนี้เดนมาร์กมี infrastructure และระบบการทำงานที่มีความเป็น digital สูงมาก แทบทุกอย่างในเดนมาร์กรวมทั้งการติดต่อธุรกิจ ติดต่อกับหน่วยงานรัฐ ทำผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในเดนมาร์กมีสูงมาก เมื่อเปลี่ยนเป็นการเรียนออนไลน์ นักเรียนที่เดนมาร์กก็พร้อมเรียนแบบออนไลน์ ที่ประเทศไทย การ lockdown ที่มาพร้อมกับทั้งทำงานและเรียนจากที่บ้าน สร้างปัญหาและภาระให้กับผู้ปกครองและนักเรียนหลายคน เหตุผลก็ในเรื่องของการขาดแคลนคอมพิวเตอร์และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ไม่ทั่วถึง การเรียนการสอนที่ไทยแบบปกติก็เรียนเยอะอยู่แล้ว พอมาเป็นเรียนออนไลน์ นักเรียนก็เจอกับภาระงานและการบ้านที่ทับถมกันมามากมาย รวมทั้งประสิทธิภาพในการเรียนรู้ก็ไม่เท่ากับเรียนในห้องเรียน แต่นักเรียนไทยก็ไม่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนคลายใดๆ กับการสอบ เช่นการสอบเข้าทีแคส เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย แม้ว่านักเรียนจะร้องศาลปกครองให้ไต่สวนเลื่อนสอบ แต่ศาลก็ไม่เลื่อนให้นักเรียน
เมื่อมองถึงจำนวนผู้ติดโควิดทั้งรายวันและโดยรวม แน่นอนประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดโควิดที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับเดนมาร์ก แต่นั่นหมายความว่าไทยจัดการโควิดได้ดีกว่าใช่หรือไม่? เดนมาร์กตรวจโควิดฟรีแบบ PCR ให้ประชาชนในเดนมาร์กวันละ หลักแสน ซึ่งย่อมไม่แปลกที่เดนมาร์กจะเจอคนติดวันละหลักหลายร้อย แต่เหตุผลที่เดนมาร์กตรวจเยอะ ก็เพื่อให้คนรู้ตัวว่าติดและทำการเอาตัวเองออกห่างจากคนอื่น แต่การที่ไม่ตรวจหรือตรวจน้อย หรือตรวจเฉพาะคนที่มีอาการและกลุ่มเสี่ยงแบบที่ไทยทำ จะทำให้คนที่ได้รับเชื้อแต่ไม่มีอาการสามารถที่จะแพร่เชื้อได้
การ lockdown แน่นอนมาพร้อมกับการปิดร้านอาหารและหลายๆ ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวทั้งโรงแรมและการบิน เดนมาร์กเป็นรัฐสวัสดิการแบบสุดลิ่มทิ่มประตู โดยปกติแล้วทุกคนที่ตกงานในเดนมาร์กจะได้รับเงินช่วยเหลือ ในภาวะโควิดนี้เดนมาร์กได้ช่วยเหลือธุรกิจทั้งเล็กทั้งใหญ่ รวมทั้งจ่ายเงินเดือนบางส่วนให้กับลูกจ้างในธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหารและโรงแรมที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการระบาดของโควิด เมื่อมองมาที่ไทย เม็ดเงินจากภาคท่องเที่ยวคิดเป็นเกือบ 20% ของ GDP ของประเทศ การปิดพรมแดนที่ต้องมีการกักตัวทุกคนที่เข้าประเทศย่อมทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและการบินแทบเป็นอัมพาตในไทย ประเทศไทยไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีเงินเข้าสู่ภาคท่องเที่ยวมามากกว่า 1 ปีแล้ว ยิ่งกว่านั้นรัฐไทยไม่ได้มีมาตรการในการชดใช้ใดๆ ให้กับธุรกิจและผู้ตกงานในไทย
แสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับการระบาดของโควิด คือ วัคซีน เดนมาร์กเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ช่วงหลังคริสต์มาส เดนมาร์กตอนนี้มีวัคซีนหลากหลายตัว และมีแผนว่าจะฉีดให้ครบทุกคนที่อายุมากว่า 16 ปี ที่ฉีดได้และยินยอมฉีด ภายในกรกฎาคมนี้ เดนมาร์กหวังว่าจะมีการเดินทางแบบปกติขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ ทางด้านไทยนั้น มีวัคซีนแค่ซิโนแวคและแอสตร้า ซีเนก้า แม้ตอนนี้ Johnson & Johnson จะได้รับการอนุมัติจาก อย. แล้ว ซึ่งใช้เวลาอนุมัติถึง 2 เดือน ไม่สอดคล้องกับการประกาศว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่รัฐบาลไทยก็ไม่มีวี่แววว่าจะสั่งวัคซีนตัวนี้มาฉีดให้ประชาชน โดยยังคงตั้งความหวังไว้กับแค่ แอสตร้า ซีเนก้า ล็อตใหญ่ที่จะผลิตจากสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นจำนวน 5-10 ล้านโดสตั้งแต่เดือนมิถุนายมเป็นต้นไป โดยหวังว่าจะฉีดให้ประชาชน 50% – 60% ภายในสิ้นปีนี้ ยังคงเป็นคำถามว่าการฉีดวัคซีนในระดับนี้จะสามารถสร้าง herd immunity ได้จริงหรือไม่ และการที่แทงม้าตัวเดียวกับแอสตร้า ซีเนก้านี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาวมั้ย โดยเฉพาะถ้าแอสตร้า ซีเนก้าไม่ได้ผลกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงการฉีดวัคซีนด้วยวัคซีนตัวนี้ตัวเดียวก็เท่ากับไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่อย่างได้ผลจริงๆ เลย อย่างที่รู้กันดีว่ารายได้ของประเทศไม่น้อยเลยมาจากภาคท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ การที่ไม่รีบฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็ว ไทยจะสามารถเปิดประเทศได้เมื่อไรโดยไม่ต้องกักตัวเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศได้มาทำธุรกิจ รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้เพื่อหาวัคซีนมาให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ตอนนี้ยิ่งมีอีกหนึ่งยี่ห้อคือ Johnson & Johnson ที่อนุมัติ ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยนอกจากต้องรีบหาวัคซีนตัวนี้มาให้ประชาชน นี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำหน้าที่ให้มันฉุกเฉินทางการแพทย์บ้าง อย่าหาเหตุมาอ้างว่ารอวัคซีนแอดต้าซีเนก้า เพราะประชาชน และเศรษฐกิจรอไม่ได้!
รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส คำนึงถึงหลักมนุษยชน และเป็นรัฐสวัสดิการ แบบเดนมาร์ก และในหลายๆ ประเทศในยุโรป จะเป็นรัฐที่พร้อมรับกับวิกฤติ และวิกฤติโควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัฐที่เป็นประชาธิปไตยสามารถทำได้ รัฐประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการสามารถลดการติดเชื้อและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้
รัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นประชาธิปไตยเสี้ยวใบ เช่นประเทศไทย จะล้มเหลวในการรับมือ นอกจากประชาชนอาจจะติดเชื้อแล้ว ประชาชนจะไม่มีกินด้วย!!!